ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘ศิริราช-TCELS’ ทำ MOU หนุนเสริมด้านวิจัย-พัฒนา ขับเคลื่อน ‘ผลิตภัณฑ์-บริการทางการแพทย์และสุขภาพไปสู่เชิงพาณิชย์’ สร้าง ‘ระบบนิเวศนวัตกรรม’ เพื่อการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม


ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ และ ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการวิจัยและพัฒนา “เรื่อง การขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพสู่เชิงพาณิชย์และสังคม” ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการ TCELS ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน 

1

2

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือในมิติของการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและบริการด้านการแพทย์และสุขภาพที่สามารถนำไปขยายผลและต่อยอดไปสู่การใช้เชิงพาณิชย์และสังคม ตั้งแต่ในขั้นของการค้นหาโครงการนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่มีศักยภาพ การให้คำปรึกษาด้านวิชาการหรือกิจกรรมอื่นๆ 

พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem) เพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนนวัตกรรมและบริการด้านการแพทย์และสุขภาพสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และสังคม รวมถึงการพัฒนานโยบายสุขภาพและสาธารณะ เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน

2

ศ.นพ.อภิชาติ เปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นสถาบันที่ให้ความสำคัญกับการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเรายังมีหน้าที่ที่สำคัญคือการทำวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับประชาชนคนไทย รวมถึงทุกๆ คนบนโลกใบนี้ ซึ่งโชคดีมากที่เราได้ร่วมงานกับ TCELS การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ  ในวันนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้งานวิจัยของชาวศิริราชออกไปสู่สังคม และสามารถที่จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศในการวิจัยนวัตกรรมของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ผลักดันให้คุณภาพชีวิตของคนไทยและคนบนโลกใบนี้ดียิ่งขึ้น

ด้าน ดร.จิตติ์พร กล่าวว่า โรงพยาบาลศิริราชคือ Intelligent Hub ของเทคโนโลยีทางการแพทย์และสุขภาพ สิ่งที่ TCELS จะทำงานร่วมกับศิริราชคือ high value-added เสริมเขี้ยวเล็บให้งานวิจัยหรือนวัตกรรมเหล่านั้นมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม TCELS จะเป็น connector ที่เชื่อมโยงงานวิจัยหรือนวัตกรรมต่างๆ นั้นไปยังผู้ใช้ปลายทาง ซึ่งวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางร่วมกัน ไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือการสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรม Life Sciences และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทยทุกคน

1

2

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ประกาศเจตนารมณ์ในการผลักดันเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสุขภาพ ให้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะผลักดันประเทศไปสู่ความเป็นเลิศ ปฏิรูปประเทศให้มีความสามารถเข้าสู่การแข่งขันทั้งในเชิงวิชาการและเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ TCELS เป็นหน่วยงานที่ถูกกำหนดบทบาทหน้าที่สำคัญ คือ การนำองค์ความรู้ กระบวนการวิจัย และนวัตกรรมที่เป็นผลจากกระบวนการวิจัยและพัฒนาไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ซึ่งหน่วยงานด้านวิชาการลำดับต้นๆ ของประเทศที่มีศักยภาพในงานวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์ก็คือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล งานวิจัยหลายชิ้นเมื่อผ่านขั้นตอนพิสูจน์ผลและศักยภาพ จะถูกเชื่อมโยงไปสู่หน่วยงานด้านธุรกิจและการค้าต่างๆ ซึ่งเป็นเครือข่ายของ TCELS เมื่อ 2 ส่วนนี้เชื่อมโยงเข้ากันได้ ประเทศเราจะมีผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพที่มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของสังมไทยและมวลมนุษยชาติ