ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“โบท็อก” หรือ “โบทูลินัมท็อกซิน” นับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของความงามที่จะถูกใช้เพื่อลดริ้วรอย หรือปรับโครงใบหน้า รวมไปถึงส่วนอื่นๆ

หากนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา จะพบว่าทั่วโลกมีการใช้โบทูลินัมท็อกซินเพื่อความงามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบอีกว่ามีผู้ใช้โบทูลินัมท็อกซินเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันอายุของผู้ที่ใช้ก็ลดลง หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่าในช่วงชีวิตคนๆ หนึ่งจะมีโอกาสได้รับโบทูลินัมท็อกซินเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

มากไปกว่าความงามแล้ว ในทางการแพทย์ก็มีการใช้โบทูลินัมท็อกซินรักษาผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง หรือผู้ป่วยที่มีใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวันใดวันหนึ่งประสิทธิภาพที่คุณเคยได้รับจากการฉีดโบท็อกทั้งด้านความงามและด้านการรักษาโรคไม่เท่าเดิม หรือเกิดเป็นภาวะ “ดื้อโบทูลินัมท็อกซิน” ขึ้นมา?

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ โรงพยาบาลศิริราช โดยบุคลากรแต่ละภาควิชา ร่วมกันวิจัยเพื่อหาคำตอบต่อภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน จนเกิดเป็น “ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ ที่จะทำการวินิจฉัยผู้ที่ “เสี่ยง” หรือมีภาวะดังกล่าวได้อย่างตรงจุด

1

ผลลัพธ์ไม่เท่าเดิม-มาฉีดบ่อยขึ้น อาจเสี่ยง ดื้อโบฯ

ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิรริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สำหรับในด้านความงามแล้ว เมื่อจะดูอาการของภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินนั้นอาจะทำได้ 2 กรณี นั่นก็คือ 1. หากเคยฉีดในปริมาณ 50 ยูนิต อยู่ได้ 3-4 เดือน แต่ตอนนี้อาจจะเหลือเพียงแค่ 2 เดือนแล้วกลับมาฉีดใหม่ หรือกลับมาฉีดบ่อยขึ้น 2. ใช้ยาขนาดเท่าเดิม แต่ผลลัพธ์ไม่เท่าเดิม

กระนั้น การเสี่ยงเป็นภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินก็จะมีปัจจัยแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยส่วนตัว หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ

สำหรับอุบัติการณ์ดื้อโบทูลินัมท็อกซินในด้านความงาม จะพบว่าเจอมากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการใช้ในด้านนี้ผู้ที่เข้ามาฉีดจะมีความอ่อนไหว ฉะนั้นก็จะมีเสียงร้องเรียนมาเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงระยะหลัง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีเข้ามาเป็นร้อยเคส

อย่างไรก็ดี งานวิจัยในอดีตระบุว่าคนที่มีลักษณะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินนั้นน้อยมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในอดีตมีการสัมผัสโบทูลินัมท็อกซินน้อยกว่า ทว่าเมื่อใช้ไปเรื่อยๆ กลับพบว่ามีคนที่ดื้อโบทูลินัมท็อกซินมากกว่าที่ตำราเขียนเอาไว้ จึงนำมาสู่การหาวิธีเพื่อที่จะวิจัย แต่กลับพบว่าในประเทศไทยไม่มีที่ไหนสามารถวินิจฉัยได้

“จึงเป็นปัญหาว่าถ้าวินิจฉัยไม่ได้ ก็ไม่รู้จะรักษาคนไข้อย่างไรต่อไป โดยเฉพาะถ้าเป็นคนไข้ที่ต้องการ เช่น คนไข้กลุ่มโรคที่จำเป็นต้องใช้ และอยู่มาวันหนึ่งใช้โบทูลินัมท็อกซินไม่ได้ ส่งผลเสียกับชีวิตมากกว่า” ศ.พญ.รังสิมา ระบุ

ขณะเดียวกันในการฉีดโบทูลินัมท็อกซินนั้น ศ.พญ.รังสิมา ยังไม่แนะนำให้ฉีดบ่อย แต่ควรจะฉีด 3-4 เดือน/ครั้ง เพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันลงมาเป็นปกติ และไม่ควรฉีดในปริมาณที่มาก รวมไปถึงไม่ควรสลับยี่ห้อ เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินได้

นอกจากนี้ยังควรเลือกฉีดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์แพทยสภา หากต้องการฉีดโบทูลินัมท็อกซินเป็นระยะเวลานาน และไม่อยากเกิดภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินในอนาคต ควรแจ้งแพทย์ เนื่องจากแพทย์จะประเมินปริมาณของโบทูลินัมท็อกซิน และใช้ขนาดต่ำที่สุดที่จะทำให้ได้ผล ซึ่งจะเป็นการใช้ประสบการณ์ของแพทย์ร่วมกับความต้องการของผู้รับบริการ

2

โบท็อกไม่ได้ใช้เฉพาะด้านความงามเท่านั้น

พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยโบทูลินัมท็อกซินจะมี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก และ 2. โรคกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง เนื่องจากสามารถเบิกได้ตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีผู้ป่วยที่เข้ามารักษาถึง 100-120 คนต่อเดือน โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก 75%

มากไปกว่านั้น กลุ่มผู้ป่วยโรคดังกล่าวอาจจะเสี่ยงต่อภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินในอนาคต กรณีที่ใช่ต่อเนื่องระยะยาว เนื่องจากในการรักษาต้องใช้โบทูลินัมท็อกซินมากถึงประมาณ 100-150 ยูนิต ซึ่งอ้างอิงจากวารสารต่างประเทศจะพบว่ามี 14% ของผู้ป่วยมีภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง และอาจะทำให้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้

นอกจากนี้แล้ว โบทูลินัมท็อกซินยังใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการบิดเกร็งเฉพาะที่ ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดสมองแตกหรือตีบ รวมไปถึงผู้ป่วยไมเกรนด้วยเช่นกัน

“ทางเวชปฏิบัติก็จะพบว่า คนไข้มาบ่นว่าฉีดเท่าเดิมแต่รอบนี้อยู่สั้นลง หรือประสิทธิภาพไม่ดีเหมือนเดิม เพราะจะมีการเก็บเป็นคะแนนจากแพทย์ และความพึงพอใจของคนไข้ ส่วนตัวจึงคิดว่าการที่เรามีการทดสอบภาวะดื้อยาก็จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ เพื่อปรับการฉีด หรือว่าการส่งตรวจเพื่อปรับยี่ห้อ จะได้แก้ไขตรงจุดและเฉพาะกับคนไข้มากขึ้น” พญ.ยุวดี ระบุ

เร่งพัฒนาการวินิจฉัย ตอบโจทย์ปัญหาผู้ป่วย

รศ.ดร.นพ.ยุทธนา ศรีนวลประเสริฐ ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เมื่อได้โจทย์ปัญหามาจาก ศ.พญ.รังสิมา แล้วจึงกลับไปหาข้อมูล ทำให้พบว่าในช่วงหลังที่มีการพูดถึงมากขึ้นคือ “การสร้างแอนติบอดี”

ทั้งนี้ เนื่องจากการฉีดโบทูลินัมท็อกซินเป็นการฉีดสารแปลกปลอมเข้าร่างกาย คล้ายกับเมื่อฉีดวัคซีน หากมีสารแปลกปลอมร่างกายก็จะสร้างการต่อต้าน แต่การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน เราไม่ได้อยากได้การต่อต้านเหมือนวัคซีน

“คนที่ทำวิจัยมาก่อนหน้านี้พบว่าน่าจะมีการสร้างแอนติบอดี แต่ในอดีตเป็นการทดสอบโดยใช้การทดลอง หรือฉีดเข้าไปในผู้ป่วยหรือสัตว์ทดลอง แต่แน่นอนว่าการฉีดในสัตว์ทดลองเอามาเปิดบริการให้กับประชาชนทั่วไปไม่ได้ ถ้าจะต้องพัฒนาวิธีการใดในการหาแอนติบอดีมาใช้ ต้องกลับมาที่วิธีการเบสิกก่อน คำถามแรกคือมีปริมาณแอนติบอดีมากน้อยแค่ไหน ในคนที่ฉีดโบทูลินัมท็อกซินแล้วไม่ตอบสนอง กับคนที่ตอบสนอง” รศ.ดร.นพ.ยุทธนา ระบุ

อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบพบว่ามีแอนติบอดีไม่ต่างกันกับโบทูลินัมท็อกซินทั้งตัว ทำให้ต้องกลับไปดูอีกครั้ง เนื่องจากโบทูลินัมท็อกซินไม่ได้ทำงานทั้งตัว แต่มีหน้าที่ทำงานเฉพาะแค่บางส่วน ฉะนั้นหากหาแอนติบอดีเฉพาะบางส่วนและดูความแตกต่างได้ รศ.ดร.นพ.ยุทธนา ก็เชื่อว่าน่าจะตอบโจทย์ จึงได้กลับไปหาข้อมูลเก่าอีกครั้ง แล้วพบว่าบางส่วนของโบทูลินัมท็อกซินที่มีแอนติบอดีต่อส่วนนี้ ทำให้ไม่เกิดการตอบสนอง จึงปรับกระบวนการทดสอบเดิมโดยเพิ่มกระบวนการหาตำแหน่งเล็กน้อย

บทสรุปจึงนำมาสู่การค้นพบว่า คนที่ไม่ตอบสนองต่อโบทูลินัมท็อกซิน จะมีแอนติบอดีเฉพาะตำแหน่งมากกว่าคนที่ตอบสนอง

สำหรับการวินิจฉัยดังกล่าว สามารถวิเคราะห์ได้ละเอียดด้วยการวินิจฉัยแยกเฉพาะยี่ห้อได้ ซึ่งจะแตกต่างจากการวินิจฉัยจากที่อื่น ฉะนั้นจึงไม่ใช่แค่การวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว แต่สามารถบอกแนวทางการรักษาของผู้ป่วยได้

จากการวิจัยทั้งหมดนี้ ทำให้ได้หลักการวินิจฉัยออกมา 2 ชิ้น จากการทดลองของ รศ.ดร.นพ.ยุทธนา และภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน จนนำมาสู่การ “จดสิทธิบัตร” เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ถูกนำมาทำเป็นที่แรก ที่ศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งนี้ และถือว่าเป็นบริการที่สืบเนื่องมาจากงานวิจัยจากความร่วมมือของแพทย์หลายสาขา

นอกจากนี้ ด้วยผลการวินิจฉัยอุบัติการณ์การดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน จากการทดสอบของผู้ป่วย 137 ราย ได้พบว่ามี 79 ราย หรือนับเป็น 58% ที่ตรวจเจอแอนติบอดี หรือมีภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน

1

24

ผนึกเอกชน ขยายไปสู่คลินิกความงามกว่า 40 แห่ง

สำหรับการตรวจหาภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินนั้น จะแนะนำในผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองมีความเสี่ยงจากการใช้โบทูลินัมท็อกซิน เนื่องจากมีโอกาสเกิดแอนติบอดีได้มากกว่าคนที่ไม่เคยฉีด แม้ว่าทุกคนจะเคยได้รับโบทูลินัมท็อกซิน ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับวัคซีนบาดทะยักเมื่อตอนเป็นเด็กมาแล้วก็ตาม ฉะนั้นผู้ที่ไม่เคยฉีดโบทูลินัมท็อกซินทั้งการรักษาโรค หรือเพื่อความงามจะมีแอนติบอดีน้อยมาก

ในส่วนการตรวจหาภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินนั้น ทำได้จากการวินิจฉัยจากเลือด ที่ใช้ราว 5 cc เท่านั้น โดยจะมี 2 การทดสอบ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามารับบริการสามารถติดต่อได้ผ่านศูนย์เลเซอร์ผิวหนังศิริราช เพื่อคัดกรองโดยแพทย์ว่าน่าสงสัยดื้อโบทูลินัมท็อกซิน โดยจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,600 บาทต่อการทดสอบ ใช้เวลาในการวินิจฉัย 10 วันทำการ หรือประมาณ 1 สัปดาห์

ขณะเดียวกัน ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซินนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ที่ดำเนินธุรกิจด้านความงามเชิงการแพทย์ เป็นผู้ประสานคลินิกความงามกว่า 40 แห่งในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเป็นเครือข่ายในการเก็บข้อมูลและส่งเลือดสำหรับผู้ที่สงสัยมีภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน

ภญ.กิตติวรรณ รัตนจันทร์ ผู้บริหารสูงสุดบริษัท เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ระบุว่า เมิร์ซ เอสเธติกส์ เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มโบทูลินัมท็อกซิน และเริ่มได้ยินเสียงตอบรับว่าผู้ฉีดเริ่มไม่ตอบสนอง ทำให้เกิดการ “Shopping Around” หรือเปลี่ยนยี่ห้อฉีดไปเรื่อยในระบบเสริมความงาม

จุดนี้จึงทำให้บริษัทรู้สึกสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีตัวเลขระบุชัดเจน จึงขอเข้าร่วมเป็นกลางน้ำและปลายน้ำ คือเป็นเครือข่ายประสานงานกับคู่ค้าพันธมิตร เพื่อให้แพทย์ที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งต้องผ่านการอบรมกับ รศ.ดร.นพ.ยุทธนา และ ศ.พญ.รังสิมา เพื่อการให้คำแนะนำ การซักประวัติของผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้อง

“ในเฟส 2 เราจะมีโครงการจะประชาสัมพันธ์ เปิด LINE official Merz beauty connect ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะทักเข้ามาสอบถาม และหากสะดวกที่คลินิกหรือโรงพยาบาลใด เราจะเป็นคนที่ช่วยส่งต่อให้รวมถึงเรามี call center ด้วยที่จะช่วย เรามองว่าตอนนี้ประชาสัมพันธ์สำคัญที่สุดถ้าประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้มีความรู้ความเข้าใจที่ดีที่สุด ท้ายแล้วศูนย์วิจัยตรงนี้ก็จะมีผลวิจัยที่เป็นของคนไทยจริงๆ” ภญ. กิตติวรรณ ระบุ