ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการสิทธิบัตรทอง เผย ใบรับรองการเกิดจากโรงพยาบาลให้เด็กไทยในพื้นที่ห่างไกลสำคัญมาก ชี้ ช่วยยืนยันตัวตน-สถานะได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาอนาคตพิสูจน์สถานะอีกต่อไป หวังมีเครือข่ายยกระดับสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ช่วยเด็กไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ โดยเฉพาะบริการสุขภาพป้องกันโรค-วัคซีน 


นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย ประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า ปัญหาการพิสูจน์สถานะของเด็กไทยไร้สิทธิ โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พ่อและแม่เป็นชนกลุ่มน้อย หรือเป็นคนไทยที่ยังไร้สิทธิ ซึ่งทำให้ไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ มาจากการไม่มีเอกสารรับรองการเกิดเป็นปัจจัยหลัก ทั้งที่เกิดในแผ่นดินไทย เนื่องจากแพทย์อาจไม่ให้ความสำคัญเพราะไม่รู้ หรือเห็นว่าไม่ใช่คนไทยเลยไม่กล้ารับรอง ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่รู้เช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมาก 

นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า เอกสารรับรองการเกิดสำหรับเด็กไทยทุกคนมีความสำคัญ เพราะจะเป็นเอกสารรับรองตัวตนฉบับแรกที่ออกให้จากหน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลของรัฐที่เด็กคลอด จากนั้นพ่อและแม่จึงนำเอกสารไปติดต่อเพื่อขอทำสูติบัตรให้มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อยืนยันการเป็นบุคคลสัญชาติไทยในทันที ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กที่เกิดในแผ่นดินไทย ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ได้ 

ตัวอย่างเช่น ที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนที่ยังมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิสถานะอยู่จำนวนมาก แต่ผู้บริหารโรงพยาบาลเห็นความสำคัญกับปัญหานี้ และมีข้อสั่งการให้เด็กที่คลอดจากโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาทุกคนต้องได้ใบรับรองการเกิด แต่ต้องเข้าใจว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต้องการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง โดยหลังจากนั้นพ่อแม่ของเด็กต้องไปทำสูติบัตรเพื่อให้เด็กมีเลขประจำตัวประชาชนตั้งแต่แรกเกิด 

"นักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาล ก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน และมีการทำงานเชิงรุกเพื่อให้เด็กที่คลอดจากโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนามีใบแจ้งเกิดทุกคน และแจ้งกับพ่อและแม่ของเด็กให้ไปติดต่อสำนักทะเบียนประจำอำเภอ เพื่อทำสูติบัตรและรับรองตัวตนเข้าสู่ระบบทะเบียนของกระทรวงมหาดไทย" นพ.ขวัญประชา ระบุ

ดังนั้นเมื่อเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ผู้บริหารโรงพยาบาล ไม่ใช่นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อจัดการปัญหาไม่ให้เด็กไทยต้องประสบปัญหาพิสูจน์สถานะอีกครั้งเวลาต้องเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ หลังจากนี้จึงควรยกระดับให้มีการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย รวมไปถึงสร้างการตื่นตัวให้กับประชาชนรับรู้เกี่ยวกับการขอรับเอกสารรับรองการเกิดให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น 

"เด็กทุกคนหากมีใบแจ้งเกิด หรือใบรับรองการเกิด ก็ไม่จำเป็นต้องมาพิสูจน์สถานะ หรือต้องตรวจพันธุกรรม (DNA) อีกแล้ว เพราะนำใบรับรองการเกิดไปที่สำนักทะเบียนประจำอำเภอเพื่อแจ้งเกิดให้มีสูติบัตร เป็นจุดเริ่มต้นที่ควรจัดการได้เพื่อไม่ให้ต้องเกิดปัญหาการพิสูจน์สถานะในอนาคต" นพ.ขวัญประชา กล่าว