ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.กาญจนบุรี ชี้หลังจาก สปสช.เซ็น MOU ร่วมกับ 9 หน่วยงาน ทำให้การทำงานช่วยเหลือกลุ่มคนไทยไร้สิทธิให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพสะดวกมากยิ่งขึ้น 


นายสุนทร สุริโย ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.กาญจนบุรี ว่า จะรับผิดชอบพื้นที่กาญจนบุรีโซนล่าง โดยมีการพัฒนาเครือข่ายการทำงาน โดยยกระดับจากแกนนำในแต่ละอำเภอให้เป็นชุดประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน โดยแต่ละชุดประสานงานจะมีคณะกรรมการ มีการบริหารจัดการในรูปแบบองค์กร จากเดิมที่มีลักษณะยึดโยงกับตัวบุคคล ทำให้มีการขยายงานทั้งในระดับอำเภอหรือตำบลได้มากขึ้น

สำหรับภาพรวมและปัญหาในพื้นที่นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ยุด ยุคแรกในช่วงที่ยังเป็นศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพมาจนถึงประมาณปี 2553 ปัญหาในพื้นที่จะเป็นเรื่องของความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพ มีความเข้าใจว่าเป็นระบบสุขภาพของคนจนเท่านั้น ยุคต่อมาหลังจากได้ยกสถานะขึ้นเป็นศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.กาญจนบุรี แล้ว ปัญหาที่พบส่วนมากจะเป็นเรื่องมาตรฐานบริการ การขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย เช่น คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชนและเข้าไม่ถึงบริการ คนพิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น 

4

1

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ สปสช. ได้ทำ MOU ร่วมกับ 9 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิของผู้มีปัญหาสถานะในปี 2562 ทำให้ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.กาญจนบุรี ทำงานได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งหากจะกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. คนไทยไร้สิทธิ และ 2. กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ในส่วนของคนไทยไร้สิทธินั้น ในยุคแรกๆ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จะทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้านร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น เมื่อมูลนิธิฯช่วยเหลือจนคนกลุ่มนี้ได้บัตรประชาชนแล้ว ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง ก็จะรับช่วงในการตรวจสอบสิทธิ ย้ายสิทธิรักษาพยาบาลเพื่อให้รับบริการในพื้นที่กาญจนบุรีได้ 

นอกจากนี้ ยังกลุ่มที่เกิดในประเทศแต่ตกสำรวจ และผู้ที่อยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.กาญจนบุรี ก็จะช่วยสนับสนุนให้เข้าถึงกระบวนการพิสูจน์ความเป็นคนไทยด้วยวิธีตรวจ DNA ซึ่งด้วยผลจากการเซ็น MOU ของ สปสช. ก็ทำให้กระบวนการตรวจสอบมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น “การดำเนินการกับคนกลุ่มนี้จะดีตรงที่มีนโยบายชัดเจน มีภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยกัน”นายสุนทร กล่าว

2

นายสุนทร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จะมีความยากในการทำงานไปอีกระดับหนึ่ง แต่ยังดีที่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบเรื่องสิทธิสุขภาพ ซึ่งบทบาทของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.กาญจนบุรี ส่วนมากจะเป็นการสร้างความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย ประสานงานตรวจสอบสิทธิ และส่งเสริมกระบวนการวิธีการเข้าถึงสิทธิเป็นหลัก แม้ไม่ใช่ผู้มีสิทธิบัตรทองโดยตรง แต่เมื่อทำงานในพื้นที่แล้วทุกคนที่มาขอำแนะนำต้องได้คำตอบ 

“ส่วนใหญ่เคสที่เราให้การช่วยเหลือจะเป็นผลงานของชุดประสานงานหลักประกันสุขภาพในพื้นที่เกือบ 100% และมีบางส่วนที่ inbox เข้ามาที่ Facebook ของเรา ส่วนทิศทางการทำงานในอนาคต ผมคิดว่าเราน่าจะขยับไปจับงานด้านนโยบายและการสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันต้องชื่นชมฝั่งกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลที่ผ่อนคลายบรรยากาศความเป็นฝั่งตรงข้ามลงได้อย่างดี การเปิดเผยข้อมูล การเปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของหน่วยบริการทำได้ดีมากขึ้น ส่วนศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.กาญจนบุรี แต่ก่อนอาจจะรับเรื่องแล้วส่งต่อให้แก้ไข แต่ในอนาคตเราอยากร่วมสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาบริการ แทนที่จะยื่นข้อเสนออย่างเดียว”นายสุนทร กล่าวทิ้งท้าย

3