ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เผยตัวเลขผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทอง เลือกวิธีฟอกเลือดมากกว่าล้างไตทางช่องท้อง ปี 65 เพิ่มมากว่า 50% หวั่นกระทบหน่วยบริการ เตรียมสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีการรักษาทั้งสองแบบ 


นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี เปิดเผยว่า หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ที่ สปสช. มีนโยบายให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สามารถเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับตัวเองได้ โดยให้ปรึกษาร่วมกันแพทย์เพื่อพิจารณาหาแนวทางร่วมกัน พบว่าในปีเดียวกันมีผู้การเลือกวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) เพิ่มขึ้นถึง 50% อีกทั้งล่าสุดในปี 2566 ก็เพิ่มขึ้นอีก 20% ขณะที่สัดส่วนผู้ป่วยที่เลือกวิธีล้างไตทางช่องท้อง (PD) ลดลง ซึ่งมีบางส่วนขอเปลี่ยนมาบำบัดด้วยการฟอกเลือดแทนด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการได้ เนื่องจากเครื่องฟอกเลือดอาจไม่เพียงพอรองรับกับจำนวนผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขี้น มากไปกว่านั้นบุคลากรทางการแพทย์ในด้านนี้ก็มีความขาดแคลน โดยเฉพาะพยาบาลโรคไต ที่มีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยขณะฟอกเลือดที่สถานพยาบาล

นพ.ชุติเดช กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่เลือกการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมนั้น เป็นเพราะรับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน ทำให้คิดว่าวิธีดังกล่าวเป็นประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง รวมถึงเชื่อว่ามีความสะดวกสบายมากกว่า จากการไปรับบริการที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการที่จะมีพยาบาลคอยดูแล อีกทั้งยังเห็นว่าการล้างไตผ่านช่องท้องที่บ้านอาจมีความยุ่งยาก และไม่เหมาะสมกับตนเอง ขับเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีล้างไตผ่านทางช่องท้องไม่เป็นที่รับรู้มากนักในกลุ่มผู้ป่วย 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจำนวนของผู้ป่วยเริ่มมีความคงที่ โดยในปี 2566 พบว่ามีผู้ป่วยที่เลือกวิธีการฟอกเลือดอยู่ประมาณ 20% ลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่ยังพบว่ามีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่เข้ามาสู่ระบบการรักษาประมาณ 7% ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเลือกวิธีการฟอกเลือด แต่ที่น่าสนใจคือ ยังมีกลุ่มที่กำลังจะเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายอีกราว 30% ทั่วประเทศ ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าหากต้องบำบัดทดแทนไตจะเลือกวิธีใด ซึ่งหากตัดสินใจตอนเข้ารับการรักษา อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพอีกระลอกได้ 

ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. เขต 4 สระบุรี กล่าวอีกว่า ในจำนวนกลุ่ม 30% ดังกล่าว จึงมีความสำคัญอย่างมากที่แพทย์จะต้องมีการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการบำบัดทดแทนไตอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องกับผู้ป่วย รวมถึงประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วยเองว่ามีความเหมาะสมกับวิธีบำบัดแบบไหน จนกว่าผู้ป่วยจะสามารถตัดสินใจได้เองจากข้อมูลที่มีอย่างครบถ้วน ซึ่งการเลือกแนวทางการบำบัดของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะมีส่วนเชื่อมโยงมายังการจัดบริการสุขภาพให้กับผู้ป่วยโรคไตในระยะต่อไปด้วย 

3

"จากข้อมูลที่พบคือ ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโรคไตทุกรายจะเหมาะสมกับการบำบัดด้วยวิธีฟอกเลือด โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป และมีโรคร่วมเช่น โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากการฟอกเลือดในระยะเวลา 90 วัน เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อสูงขณะฟอกเลือด เนื่องจากต้องมีการแทงเส้นเลือดและนำเลือดจากร่างกายผู้ป่วยเข้าสู่เครื่องไตเทียม ซึ่งมันมีโอกาสที่จะติดเชื้อสูงขณะทำการบำบัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกังวล เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอัตราเสียชีวิตถึง 1 ใน 3 หากพบว่ามีความเสี่ยงและเข้าบำบัดฟอกเลือด" ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. เขต 4 สระบุรี ระบุ 

นพ.ชุติเดช กล่าวต่อไปว่า ส่วนหน่วยไตเทียมที่ขณะนี้มีอยู่ใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ ยังคงมีปัญหาเรื่องการกระจายเครื่องไตเทียมเพื่อใช้ในการฟอกเลือดให้กับผู้ป่วย เพราะมีการระบุมาตรฐานจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยว่าเครื่องไตเทียม 1 เครื่องต้องสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 5.5 คน แต่บางจังหวัดอาจมีเครื่องไตเทียมไม่เพียงพอต่อค่าเฉลี่ยดังกล่าว ทว่า ก็เป็นไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะจำนวนที่มีอยู่ยังสามารถรองรับสถานการณ์ขณะนี้ได้

กระนั้น ก็ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้มีมาตรฐานบริการเหมือนกันเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้น สปสช. ได้ประสานกับคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ถึงปัญหา และร่วมวางแผนการกระจายเครื่องไตเทียมให้เพียงพอ รวมถึงการจัดสรรบุคลากรให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยด้วยเช่นกัน เพราะทั้งหมดจะเกี่ยวกับคุณภาพ มาตรฐานการให้บริการกับผู้ป่วยโรคไต

นพ.ชุติเดช เผยว่า สำหรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในอนาคต ยังต้องมุ่งไปที่การบำบัดทดไตให้กับผู้ป่วยอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ และมีความพร้อมหากมีการปลูกถ่ายไตที่ได้รับบริจาคในอนาคต แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมคือการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับดูแลสุขภาพของตัวเองในกลุ่มประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันตัวเองไม่ให้เข้าสู่ภาวะไตวาย เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องเข้าสู่ระบบบำบัดทดแทนไตในอนาคต 

รวมไปถึงองค์ความรู้ด้านการใช้ยาสมุนไพร เพราะมียาสมุนไพรบางชนิดที่มีผลต่อไต และเพิ่มความเสี่ยงให้ไตวายได้ด้วย โดยองค์ความรู้ของประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผ่อนคลายผลกระทบต่อระบบบริการในภาพรวมด้วย ที่สำคัญเมื่อเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบำบัดทดแทนไตทั้ง 2 วิธีอย่างครบถ้วน โดยต้องรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของวิธีบำบัด ควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงแนวทางรักษาร่วมกันกับแพทย์ ตรงนี้สำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วย เพราะหากเลือกถูกวิธีก็มีโอกาสที่จะอยู่ได้อีกนาน

"การดูแลผู้ป่วยโรคไตที่คุ้มค่าที่สุด คือการป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยหน้าใหม่เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ ซึ่งการป้องกันไม่ใช่เป็นหน้าที่ของบุคลากรการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ทุกภาคส่วนของสังคมจำเป็นต้องมาช่วยกัน" นพ.ชุติเดช กล่าว