ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘โรงพยาบาลศรีสะเกษ’ เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลศูนย์ในประเทศไทยที่มีบทบาทในการดูแลรักษาผู้ป่วยค่อนข้างมาก ทั้งประชาชนจากในจังหวัด จังหวัดข้างเคียง และยังมีจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

เหล่านี้ทำให้โรงพยาบาลต้องเผชิญกับปัญหาความแออัดในพื้นที่ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เกิดความติดขัด เพราะมีผู้ป่วยรอรับบริการอยู่ทุกตารางนิ้วทั้งในและนอกอาคาร

รถฉุกเฉินที่วิ่งเข้า-ออกอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงรถของผู้ป่วยและญาติ ที่วิ่งวนมาส่งแล้วหาที่จอดรถกันอย่างไม่ขาดสาย

แยกไฟแดงที่ขนาบ 2 ข้างของโรงพยาบาล ซึ่งมีระยะห่างกันประมาณ 300 เมตร แน่นถนัดไปด้วยรถยนต์รอเลี้ยวเข้าไปส่งผู้ป่วย ขณะที่ถนนใกล้เคียงที่เชื่อมต่อกันโล่งจนแทบไม่มีล้อรถสัมผัส

1

ปัญหาที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องที่ทีมผู้บริหารของโรงพยาบาลศรีสะเกษพยายามอย่างหนักเพื่อหาทางออก การขยายพื้นที่ 41 ไร่ ของโรงพยาบาลออกไปก็ไม่อาจการันตีได้ว่าจะเพียงพอ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

กระทั่งเมื่อมองลงมายังกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และการดูแลอย่างต่อเนื่อง ก็พบว่า ‘ผู้ป่วยระยะกลาง’ ซึ่งต้องฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นกลุ่มที่เจอกับปัญหามากที่สุด เพราะต้องมารอคอยพบแพทย์และทำกายภาพบำบัด 

บางคนมา 6 โมงเช้า แต่ได้ทำกายภาพบำบัดตอนบ่าย 2 เพราะต้องรอ รอ และรอ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยบางคนถอดใจ ไม่อยากมาทำกายภาพบำบัดไปเลยก็มี 

การเล็งเห็นสถานการณ์ดังกล่าวที่อยู่ลึกลงไปจากปัญหาภาพใหญ่ได้นำไปสู่การจุดประกายให้เมื่อปี 2565 โรงพยาบาลศรีสะเกษ ร่วมมือกับ 'มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ' ในการสร้าง “ศูนย์สุขภาพศรีสะเกษแบบองค์รวม” (Sisaket Holistic Health Care Center) ขึ้นมาในพื้นที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย เพื่อเริ่มต้นแก้ไขปัญหา 

2

ทั้งนี้ ตัวศูนย์ฯ มีการให้บริการทั้งการกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด คลินิกฝังเข็ม ไปจนถึงคลินิกนวดแผนไทย โดยจะมีทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ดูแลผู้ป่วยระยะกลางอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย รวมถึงเจ้าหน้าที่ประสานงาน ที่จะถูกสลับเปลี่ยนหมุนเวียนจากโรงพยาบาลศรีสะเกษมาให้บริการที่ศูนย์ฯ โดยจะให้บริการทุกวันทั้งใน-นอกเวลาราชการ 

มากไปกว่านั้น นอกจากศูนย์ฯ จะตอบโจทย์ปัญหาที่โรงพยาบาลศรีสะเกษประสบแล้ว ยังได้มีการพัฒนาให้สถานพยาบาลมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยที่มารับบริการรู้สึกได้รับความสะดวกสบาย ซึ่งเมื่อผสานไปกับหัวใจของการบริการที่โรงพยาบาลค่อนข้างขึ้นชื่อ 

จึงทำให้ชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลระยะกลางดีขึ้น และมีตัวเลขของผู้ป่วยที่กลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ ไม่เป็นผู้พิการเพิ่มขึ้น และที่สำคัญผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลารอคิวเพื่อรับการบำบัดนานเหมือนที่เคย 

3

"จากจุดเจ็บปวดของเรา ที่ทีมแพทย์ไม่เพียงแค่แผนกดูแลผู้ป่วยระยะกลาง หรือฟื้นฟูสมรรถภาพให้ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ทุกแผนกเห็นเหมือนกันว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อลดความแออัดได้แล้ว การริเริ่มจึงเกิดขึ้นกับแผนกผู้ป่วยระยะกลางก่อน เพราะเป็นผู้ป่วยที่เมื่อได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลแล้ว จะต้องกลับมาบำบัดฟื้นฟูกายภาพที่โรงพยาบาลตามนัดหมาย แต่ก็ต้องรอคิว ใช้เวลานาน และบางครั้งก็ได้รับการบริการที่รวบรัด เพราะมันจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยรายอื่นด้วยเหมือนกัน" นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสะเกษ บอกกับ “The Coverage”

นพ.ชลวิทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การดูแลผู้ป่วยระยะกลางมีความสำคัญมาก เพราะคาบเกี่ยวบนช่วงเวลาวิกฤต ซึ่งเวลาการเข้าถึงบริการจะบอกได้เลยว่า ผู้ป่วยคนนี้จะเป็นคนพิการหรือไม่ เพราะหากเข้าถึงการรักษาได้เร็ว มีการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องที่ดีและมีประสิทธิภาพ มันจะเพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยระยะกลางไม่กลายเป็นคนพิการ และยังมีโอกาสที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติได้

4 

4

"การฟื้นฟูต่อเนื่องทางกายภาพของผู้ป่วย ทั้งมารับบริการที่ศูนย์สุขภาพศรีสะเกษแบบองค์รวม หรือดูแลตัวเองที่บ้านได้เอง หากได้ทำสม่ำเสมอ มีเวลาอย่างเหมาะสม ไม่เร่งรีบเหมือนกับไปโรงพยาบาล มันจะช่วยฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยให้ดีได้อย่างรวดเร็ว" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสะเกษ ย้ำ 

ปัจจุบันศูนย์สุขภาพศรีสะเกษแบบองค์รวมมีอายุครบ 1 ปีแล้ว และยังคงมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยตอนนี้เฉลี่ยคือ 5-10 คนต่อวัน ซึ่งยังมีศักยภาพที่จะรองรับได้อีก

“ทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และทีมงานกายภาพบำบัด เป็นกลุ่มก้อนบุคลากรในโรงพยาบาลที่ช่วยกันเริ่มต้นความสำเร็จในการลดความแออัดของโรงพยาบาล บวกกับได้เครือข่ายที่เป็นสถาบันวิชาการอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษที่เข้ามาทำข้อตกลง MOU ร่วมกันกับโรงพยาบาล เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรจากคณะพยาบาลศาสตร์สู่ระบบบริการสุขภาพ” นพ.ชลวิทย์ เผย

ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า 'จิตวิญญาณ' ร่วมกันของทีมงานทึ้งหมด ที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม และต้องเข้าถึงได้ง่ายที่สุดด้วย 

4