ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการ-สภาผู้บริโภค ประสานเสียงปรับปรุงนโยบายป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) ขยายเกณฑ์ประเมินระดับความฉุกเฉินให้ยืดหยุ่นครอบคลุมผู้ป่วยสีเหลืองที่อาจเปลี่ยนเป็นสีแดง พิจารณาความฉุกเฉินในมุมผู้ป่วยและญาติร่วมด้วย รวมทั้งปรับระยะเวลาใช้สิทธิให้ยืดหยุ่นมากกว่ายึดตัวเลข 72 ชม.เพียงอย่างเดียว


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สปสช.) จัดเสวนาติดตามประเมินผลนโยบายป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ไม่ต้องสำรองจ่าย หรือนโยบาย UCEP เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยในมุมมองของนักวิชาการและผู้บริโภค มองว่าควรปรับเกณฑ์การประเมินอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งปรับระยะเวลาการใช้สิทธิ UCEP ให้ยืดหยุ่นขึ้น

นพ.ณัฐวุฒิ เอียงธนรัตน์ ตัวแทนคณะผู้วิจัยติดตามโครงการ UCEP กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้ว นโยบาย UCEP ถือว่ามาถูกทาง แต่ทีมวิจัยมีข้อเสนอในหลายประเด็นในการพัฒนาให้นโยบายนี้ดียิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็น 1.ข้อเสนอระดับนโยบาย รัฐบาลควรขยายนโยบาย UCEP ไปสู่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ป่วยวิกฤตทุกคนจะสามารถเข้าถึงการรักษาอย่างทันการณ์ มีคุณภาพ ทั่วถึง โดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงิน และแก้ไขระเบียบด้านการเงินให้ยืดหยุ่นมากขึ้น

2. ในส่วนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เสนอให้พัฒนาบริการให้คำปรึกษาทางไกลแก่ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตัวเองหรือญาติอยู่ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อประเมินความรุนแรงเร่งด่วน และมีช่องทางเข้าถึงบริการที่สอดคล้องกับความรุนแรงอย่างทันการณ์ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนว่าเมื่อเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน อาการลักษณะใดบ้างที่ควรโทรหาสายด่วน 1669 เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมทั้งก่อนและเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ตลอดจนเสนอให้จัดให้มีศูนย์สำรองเตียงเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยอย่างเพียงพอ ครอบคลุมสถานพยาบาลทุกสิทธิทั่วประเทศ 

3. ในส่วนของกรมสนับสนุนบริการทางการแพทย์ (สบส.) ในฐานะผู้กำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชน ควรทบทวนแนวทางการดำเนินงานให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่นโยบาย UCEP วางไว้มากขึ้น และ ควรจัดให้มีกระบวนการทบทวนอัตราการจ่ายที่เหมาะสม อย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลใช้เป็นข้ออ้างเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย

และ 4. ในเชิงวิชาการ ควรพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อยอดวิธีการจ่ายกรณีเข้ารับบริการ UCEP แก่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน และปรับเกณฑ์การพิจารณาการพ้นภาวะวิกฤตให้ครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดกลไกการเงินการคลังที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น ปรับอัตราการจ่ายชดเชยที่มีความจำเพาะต่อสถานพยาบาลแต่ละแห่งมากขึ้น ตามขีดความสามารถและต้นทุนการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน ควรปรับระยะเวลาการใช้สิทธิ UCEP ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยคำนึงถึงปัจจัยการดำเนินโรคและการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งมีความหลากหลายเกินกว่าจะใช้ตัวเลข 72 ชม. เพียงอย่างเดียว

3

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของประชาชน อยากให้ใช้บริการสายด่วน 1669 ให้มากขึ้น เพราะสายด่วน 1669 ยังมีบทบาทเป็น Buffer ในการสร้างความเข้าใจหรือให้คำปรึกษาแก่ประชาชนว่าเข้าข่ายฉุกเฉินหรือไม่

ด้าน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล หัวหน้าทีมวิจัย และอดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เนื่องจากการคัดแยกระดับความรุนแรงของอาการป่วยว่าเป็นสีแดง-เหลือง มีโอกาสที่ผู้ป่วยที่เข้ามาในช่วงคัดแยกมาด้วยอาการสีเหลือง แต่เวลาผ่านไปอาจเปลี่ยนเป็นสีแดง และการใช้เกณฑ์ 72 ชม. ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าคนไข้พร้อมถูกส่งต่อโดยปลอดภัย ดังนั้น หลักเกณฑ์ต้องยืดหยุ่นตามข้อเท็จจริง ซึ่งข้อเท็จจริงจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ต้องมีข้อมูลอย่างละเอียดเพียงพอ ดังนั้น สบส. ควรทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่าทำอย่างไรให้โรงพยาบาลเอกชนต้องเก็บรักษาข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้าถึงและนำไปพัฒนาระเบียบหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่น จะขยายจาก 72 ชม. ให้มากขึ้นหรือไม่ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนระดับความรุนแรงจากสีเหลืองเป็นสีแดงจะจัดการอย่างไร เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน ถ้าดูโครงสร้างคณะกรรมการสถานพยาบาล ส่วนใหญ่จะมาจากผู้แทนหน่วยราชการ และอีกส่วนคือผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งก็คือแพทย์ที่อาจมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้น ถ้าองค์ประกอบของคณะกรรมการมีผู้แทนของผู้บริโภค นักวิชาการที่ไม่ใช่แพทย์ ในสัดส่วนที่มากกว่าปัจจุบัน เชื่อว่าจะทำให้กลไกการกำกับดูแลเป็นไปอย่างสมดุลมากขึ้น

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการคัดแยกระดับความรุนแรง ความท้าทายคือ ปัจจุบันเราติดตามความสำเร็จของนโยบายนี้แค่ 72 ชม. แต่หลังจากนั้นไม่ทราบว่าผู้ป่วยเป็นอย่างไรต่อ ดังนั้นจึงมีช่องให้พัฒนาระบบคัดแยกผู้ป่วยอีกมาก เช่นเดียวกับเรื่องการร้องเรียน ถ้าตั้งรับอย่างเดียว เชื่อว่ามีประชาชนอีกไม่น้อยที่ไม่กล้าร้องเรียนหรือไม่ตระหนักว่ามีสิทธิในการร้องเรียน ดังนั้นควรมีกลไกในเชิงรุกมากขึ้น เช่น มีโปสเตอร์ขนาดใหญ่ติดในห้องฉุกเฉินให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยมีสิทธิรับบริการเมื่อผ่านการ การคัดแยกระดับความรุนแรงแล้ว หรือมี QR code ให้สแกนเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การถูกเรียกเงินเมื่อไปใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นประเด็นร้องเรียนอันดับต้นๆ ที่สภาฯได้รับร้องเรียนจากประชาชน และ สภาฯ ได้ทำข้อเสนอยังหลายหน่วยงานในเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ข้อเสนอคต่อคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ขอให้ใช้อัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการของ สปสช. อัตราเดียวกันระหว่างผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ขอให้กำกับค่ารักษาพยาบาลให้เป็นอัตราเดียวกับ 72 ชม.แรกในกรณียังไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยกลับไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิได้ เพราะผู้ป่วยหลายรายอาจยังไม่พ้นวิกฤตเมื่อครบ 72 ชม. หรือพ้นวิกฤตแล้วแต่หาเตียงไม่ได้ 

ขณะที่ในส่วนของข้อเสนอต่อสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ขอให้ทบทวนเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน โดยพิจารณาขยายไปถึงกลุ่มสีเหลืองที่อาจเปลี่ยนเป็นสีแดงในภายหลัง รวมทั้งนำข้อคิดเห็นของผู้ป่วยและญาติเข้ามาพิจารณาร่วมในเกณฑ์ประเมินด้วย ซึ่งจะทำให้การทะเลาะถกเถียงกันหน้างานลดลง

ส่วน ข้อเสนอต่อ สบส. ได้เสนอให้มีการประเวินคัดแยกระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วยทุกเคส เพราะเมื่อให้หน่วยบริการซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นคนตัดสินว่าฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน ทันทีที่วินิจฉัยว่าไม่ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเอกชนก็สามารถเรียกเก็บเงินได้เต็มที่

น.ส.สารี เสนออีกว่า ควรมีเบอร์โทรกลางให้ประชาชนโทรปรึกษาก่อนว่าอาการที่เจอควรไปโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะแม้ว่าการโทรเข้า 1669 จะได้รับคำปรึกษา แต่จากการวิจัยพบว่าประชาชนส่วนมากไปรับบริการฉุกเฉินด้วยตัวเอง หรือถ้า 1669 จะทำหน้าที่นี้ ก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์เป็นวงกว้างมากขึ้น

ด้าน น.ส.ดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในมุมมองผู้ปฏิบัติงาน อยากให้ขยายนิยามคำว่าฉุกเฉิน โดยอาจต้องใช้มุมมองทางจิตใจร่วมด้วย แต่ขอบเขตว่าจะขยายแค่ไหน เป็นเรื่องที่ต้องทำการศึกษา โดยต้องเกณฑ์เป็นที่ยอมรับของทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ รวมทั้งอยากให้ทบทวนอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการ เพื่อให้โรงพยาบาลได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและลดปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย 

นอกจากนี้ ควรทำการประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินในทุกเคส เพื่อลดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน และถ้าพ้นภาวะวิกฤติหรือเกิน 72 ชม. ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินไปยังกองทุนตามสิทธิของผู้ป่วยแทนที่จะเก็บจากผู้ป่วยโดยตรง ส่วนในมุมของประชาชนนั้น ก็ควรแจ้งสิทธิก่อนรับบริการว่าจะใช้สิทธิ UCEP และถ้ามีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามสายด่วน 1330 ตลอด 24 ชม. รวมทั้งสายด่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นของสำนักงานประกันสังคมหรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1. สายด่วน สปสช. 1330 
2. ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw