ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงแนวทางการเข้าร่วมให้บริการ Lab Anywhere โดยคลินิกเทคนิคการแพทย์ ด้วยการสนับสนุนการจัดบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือ แล็บ  ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพใกล้บ้าน ด้านนายกสภาเทคนิคการแพทย์ชี้โครงการนี้เป็นการเสริมบทบาทของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในการดูแลสุขภาพประชาชน เตรียมเริ่มให้บริการเร็วๆ นี้ 


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ สปสช. ได้มีการสนับสนุนการให้บริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดย “บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือแล็บ ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมให้บริการใกล้บ้าน (Lab Anywhere)” เป็นหนึ่งในบริการที่ สปสช. ได้ร่วมกับสภาเทคนิคการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางการร่วมให้บริการผ่านระบบประชุมออนไลน์ ซึ่งมีตัวแทนจากสภาเทคนิคการแพทย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการคลินิกเทคนิคการแพทย์จากทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง

2

ทั้งนี้ ภาพรวมของบริการ Lab Anywhere นี้ คลินิกเทคนิคการแพทย์จะเป็นเครือข่ายการให้บริการกับหน่วยบริการ โดยมี สปสช.เขต เป็นผู้จัดเครือข่าย โดยคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่เข้าร่วมให้บริการ จะให้บริการเจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ผล ทั้งกรณีมารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือให้ไปเจาะเลือดที่บ้านใน พร้อมทำการตรวจวิเคราะห์ผลแล็บ ซึ่งจะให้บริการกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จำนวน 22 รายการ และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) จำนวน 2 รายการ 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายกรณีผู้ป่วยนอก (OP) มีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากหน่วยบริการที่ดูแล ทั้งกรณีมารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ หรือที่บ้าน โดยการรับบริการเก็บสิ่งส่งตรวจที่บ้าน จะเป็นกรณีที่ไม่สามารถมารับบริการที่สถานพยาบาลได้ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นอนติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยชรา ผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง หรือกรณีมีความจำเป็น ส่วนบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กำหนดให้บริการ 2 รายการ คือ 1. บริการตรวจทดสอบปัสสาวะ ในกรณีสงสัยว่าการตั้งครรภ์ 2. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ สำหรับประชาชนอายุ 50-70 ปี ทุก 2 ปี ทั้ง 2 รายการนี้ ประชาชนตามกลุ่มเป้าหมาย สามารถเข้ารับบริการได้ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมโครงการได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ส่วนอัตราการชดเชยค่าบริการนั้น จะชดเชยเป็นค่าบริการเก็บสิ่งส่งตรวจ และค่าตรวจวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการตามรายการบริการที่ สปสช.กำหนด (Fee schedule) ส่วนกรณีเก็บสิ่งส่งตรวจที่บ้านจ่ายเพิ่มเติม 80 บาท ทั้งนี้จะไม่สามารถเรียกเก็บเพิ่มเติมจากผู้รับบริการได้ 

ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า บริการ Lab Anywhere เป็นการเสริมบทบาทของวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ในการร่วมดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งในส่วนของสภาฯ ได้มีการนำร่องการตรวจประเมินรับรองคุณภาพคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่จะเข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งกำกับติดตามคุณภาพการให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถานพยาบาลที่ส่งต่อคนไข้มารับบริการ โดยบริการ Lab Anywhere ยังได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย ในการร่วมให้ความรู้ต่างๆ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการในเรื่องการทดสอบความชำนาญ และบริษัทเอกชนที่ช่วยในเรื่องการสอบเทียบเครื่องมือต่างๆ ด้วย

3

ทนพ.สมชัย กล่าวต่อว่า สภาฯ เริ่มหารือการจัดบริการของคลินิกเทคนิคการแพทย์ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 ทั้งเรื่องการวางระบบ รับรองคุณภาพ และการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. จนกระทั่งเดือน ต.ค. 2565 คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสช. ได้เห็นชอบให้ดำเนินการบริการ Lab Anywhere และจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนเริ่มเปิดบริการเร็วๆ นี้ ปัจจุบันมีคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว 26 แห่ง และมีคลินิกเทคนิคการแพทย์อีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างการสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่จะร่วมให้บริการต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสภาเทคนิคการแพทย์ (LA; Laboratory Accreditation) หรือ มาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (MOPH ) หรือ มาตรฐานราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย หรือ มาตรฐาน ISO 15189 ) และผ่านการพิจารณาการเข้าร่วมให้บริการจากสภาเทคนิคการแพทย์ก่อน จึงจะสามารถสมัครเข้าร่วมเป็นให้บริการได้ 

บริการกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จำนวน 22 รายการ ตามหมวดหมู่ดังนี้  
1.การตรวจหาความเข้มข้น และความผิดปกติของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC ) 
2.การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Sugar) 
3.การตรวจน้ำตาลสะสม (HbA1C)
4.การตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile: Cholesterol, HDL, LDL, Triglyceride) 
5.ตรวจการทำงานของตับ (Liver Function Test : SGOT, SGPT, ALK, Total Protein, Total bilirubin, Direct bilirubin, Albumin)
6.การตรวจหาค่ากรดยูริก (Uric Acid) 
7.การตรวจการทำงานของไต (BUN, Creatinine)
8.การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) 
9.การตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg)  

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิก https://lin.ee/nwxfnHw