ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ชี้ เพิ่มอัตรากำลังพยาบาลช่วยแก้ปัญหาภาระงานล้นมือได้ แต่ไม่ยั่งยืน แนะแก้ที่ระบบ-เอาใจใส่สภาพแวดล้อมการทำงานของพยาบาลให้มากขึ้น 


พว.ศราวุธ คตวงค์ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง (รพช.) เปิดเผยกับ “The coverage” ถึงข้อเสนอที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้หารือร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มจำนวน รวมถึงขยายอัตรากำลังพยาบาลในระบบและการปรับเป็นระดับชำนาญการพิเศษ (ซี 8) แต่การจะเลื่อนเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก สิ่งสำคัญคือมีหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่พยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่มีพยาบาลมาเป็นผู้ประเมิน และอาจจะไม่เข้าใจระบบงานของพยาบาล ฉะนั้น หากเป็นกลุ่มพยาบาลด้วยกันประเมิน และมีความเข้าใจว่า พยาบาลทำหน้าที่กันอย่างไร ทำหนักเพียงใด การประเมินก็จะผ่านง่ายขึ้น

อย่างไรก็ดี การเพิ่มอัตรากำลังพยาบาลไม่ได้ช่วยให้ลดภาระการทำงานหนักของบุคลากรได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากการเพิ่มบรรจุมากขึ้นก็จริง แต่สุดท้ายภาระงานก็ยังจะคงอยู่เหมือนเดิมสุดท้ายคนที่ลาออกจะไม่ใช่แค่ลูกจ้างรายคาบ (ลูกจ้างวิชาชีพรายวัน) หรือลูกจ้างรายเดือน บางครั้งจะเป็นระดับตำแหน่งข้าราชการเองที่การลาออกเหมือนกัน เนื่องด้วยภาระงานต่างๆ และค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม

ดังนั้น หากจะปิดรูรั่ว จริงๆ ควรแก้ไขที่ตัวภาระงานและค่าตอบแทน แต่ในขณะเดียวกันการที่อยู่ ๆ ขึ้นค่าตอบแทนที่สูงมากๆ ทีเดียว ก็จะมีข้อเสียเหมือนกันเพราะหากไร้การควบคุมชั่วโมงการทำงาน แล้วมีค่าตอบแทนที่สูงก็จะเกิดปรากฏการณ์การซื้อขาย หรือแลกการทำงานนอกเวลา (อยู่เวร) กันได้

“สมมุติผมทำโอทีได้ค่าโอที 1,000 บาทมันก็ทำให้คนอยากทำงาน อยากจะขึ้นโอทีมากขึ้น สุดท้ายก็จะเกิดการควบเวร ซื้อขายเวร แลกเวรเหมือนเดิม เพื่อที่จะได้ค่าตอบแทนในส่วนนั้น สุดท้ายแล้วการลดชั่วโมงการทำงานมันก็จะไม่ได้ช่วยอะไร” พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ระบุ

พว.ศราวุธ กล่าวว่า การเพิ่มบุคลากรจะสามารถช่วยลดอาการบุคลากรหมดไฟจากการทำงานหนักได้ในช่วงแรก และควรจะเพิ่มบุคลากรที่บรรจุเข้าไปในระบบ เนื่องจากทุกวันนี้มีกลุ่มพยาบาลที่เป็นลูกจ้างรายคาบจำนวนมากที่เสียโอกาส หากจะแก้ไขจริงๆก่อนการบรรจุ ควรจัดการกับปัญหาพยาบาลวิชาชีพรายวันให้หมดเสียก่อน ซึ่งเขาไม่ได้แม้กระทั่งสิทธิวันลาพักร้อน ลาป่วย รวมถึงค่าตอบเวรบ่ายดึก  บางโรงพยาบาลยังจ้างรายเดือนในอัตราที่ไม่ถึง 15,000 บาท ก็ไม่แปลกที่พยาบาลน้องใหม่ที่เพิ่งจบมา  จะมีการลาออกจากระบบกันมาก และเราคงไม่ย้อนไปนึกถึงเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้วที่เงินเดือนไม่กี่พันบาท  เพราะทุกวันนี้ค่าครองชีพสูงมาก

นอกจากนี้ เมื่อเพิ่มอัตราการบรรจุเรียบร้อยก็ต้องมาดูอีกสิ่งหนึ่งคือ เรื่องภาระงานต่างๆ ที่ทุกวันนี้ มีการทำงานหนักมากบางครั้งจะต้องตรวจผู้ป่วยเอง ส่วนในเรื่องค่าตอบแทนที่มีการเรียกร้องมานาน สุดท้ายก็มีการขึ้นเพียงไม่กี่บาท สิ่งนี้ก็มีส่วนที่ทำให้คนลาออก เพราะว่าเอกชนได้ค่าแรงที่ดีกว่า และสูงถึงชั่วโมงละ 140 บาท(ขั้นต่ำ) จึงเห็นปรากฏการณ์พยาบาลลาออกไปเอกชนจำนวนมาก  เราเห็นว่า รพ.เอกชน หรือคลินิคเกิดขึ้นมาจำนวนมากและมักยื่นข้อเสนอด้วยค่าตอบแทนที่สูง

พว.ศราวุธ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้มีการลาออกมาก แต่ไม่ค่อยมีการพูดถึงก็คือสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เพราะนโยบายส่วนใหญ่ถูกส่งตรงมาจากผู้บริหาร ซึ่งเหล่าผู้บริหารไม่ได้มีการมองถึงผู้ปฏิบัติงานว่า ต้องการสิ่งใด ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานจึงมักจะเกิดขึ้นบ่อย แต่การแก้ไขจากผู้บริหารที่ไม่ได้ดูปัญหาที่แน่ชัดทำให้คนที่ปฏิบัติงานเกิดความอึดอัดสุดท้ายแล้วไม่ว่าภาระงานวันนั้นจะยุ่งยากขนาดไหน หรืองานจะหนักมากแค่ไหน ถ้ามีเพื่อนร่วมงานที่ดีสิ่งเหล่านี้ก็เป็นที่เล็กลงมา

พว.ศราวุธ ทิ้งท้ายว่า ในส่วนของสภาการพยาบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น  ก็มีการตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆ  และส่งเรื่องไปยังผู้มีอำนาจ  สุดท้ายแล้วมีหน่วยงานอื่นที่เข้ามากำหนดรวมถึงเรื่องการขึ้นค่าทำงานนอกเวลา (OT) ต่างๆ สภาการพยาบาลก็ทำหน้าที่และยื่นเรื่องเสนอไปสุดท้ายแล้วการอนุมัติต่างๆ มักจะอยู่ที่ส่วนอื่นเสมอ 

อย่างไรก็ตาม หากยกหน้าที่ให้สภาการพยาบาลเป็นผู้กำหนดดูแลเอง ปัญหาทุกอย่างก็จะแก้ได้ง่ายขึ้น เพราะว่าตอนนี้สภาการพยาบาลรับเรื่องทุกอย่างและเข้าใจทุกอย่าง และมีการเสนอเรื่องอย่างต่อเนื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนั้นคือเหตุผลที่สภาไม่สามารถปิดรูรั่วได้ทั้งหมด จึงได้เพิ่มการผลิตพยาบาลเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นหากอำนาจอยู่ที่สภาโดยตรงปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ไขให้ดีขึ้นได้