ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แต่ละคนมีความเสี่ยงต่อภาวะเจ็บป่วยที่ไม่เท่ากัน นอกจากเชื้อโรคที่เป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดโรคแล้ว ความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายและภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญ แม้แต่ไข้หวัดใหญ่ที่เป็นโรคทั่วไป ก็เป็นอันตราย ดังนั้นการป้องกันโรคจึงยังคงเป็นมาตรการที่ดีที่สุด

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) โดยมีการแพร่ระบาดเป็นช่วง ๆ ในฤดูฝนและฤดูหนาว คนทั่วไปจะมีอาการไม่มากนัก อาทิ มีไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะหายได้เอง แต่สำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการป่วยที่รุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่น ปอดอักเสบหรือปอดบวม สมองอักเสบ เป็นต้น และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตลง

ด้วยเหตุนี้การฉีด “วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการทั่วประเทศ เป็นประจำทุกปี เพื่อดูแลประชาช 7 กลุ่มเสี่ยง ที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้ ให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) เป็นประจำทุกปี 

2

สำหรับในปี 2566 นี้ สปสช. ยังคงดำเนินการสิทธิประโยชน์บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยวัคซีนฯ ที่จัดหาบริการในปีนี้ เป็นวัคซีนสายพันธุ์ซีกโลกใต้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ครอบคลุมการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ 

ทั้งนี้ เป็นสิทธิประโยชน์ที่ให้บริการประชาชนไทยกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจหลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6. โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี        

อย่างไรก็ตามด้วยปีนี้ จากกรณีการท้วงติงข้อกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ครอบคลุมดูแลคนไทยทุกคน ส่งผลให้ต้องมีการตีความทางกฎหมายเพื่อความชัดเจน ทำให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับคนไทยที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองต้องชะลอออกไปก่อน 

ด้วยความพยายามในการหาทางออกร่วมกัน และความห่วงใยของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีนโยบายให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่กับคนไทย 7 กลุ่มเสี่ยงทุกคน ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล ทำให้วันนี้ คนไทย 7 กลุ่มเสี่ยงทุกคน ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล สามารถเข้ารับบริการได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมดลง  

2

ภาพรวมของการให้บริการในช่วงที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ 11 มิ.ย. 66) มีประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แล้วจำนวน 694,216 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 23.86 ของกลุ่มเป้าหมาย

ประชาชนไทยทั้ง 7 กลุ่มเสี่ยง ติดต่อขอฉีกวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ได้ที่ หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบบัตรทอง ได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ รพ.สต. ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ หรือสถานพยาบาลตามสิทธิที่ท่านไปรักษาเป็นประจำ โดยดูรายชื่อหน่วยบริการที่เข้าร่วมได้ที่แอปพลิเคชันเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค 

นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีแอปเป๋าตังจะได้รับการแจ้งเตือนว่า ท่านมีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงไปใช้บริการ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สปสช. ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย เปิดให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง จองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” บนแอปพลิเคชัน เป๋าตัง ได้ ขณะที่ผู้ที่อยู่ใน กทม. แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง ให้ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน

ส่วนผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถจองผ่านแอปเป๋าตังได้ แต่ท่านสามารถโทรนัดรับบริการล่วงหน้าก่อน เพื่อลดความแออัดในการเข้ารับบริการวัคซีนได้เช่นกัน ทั้งนี้การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการได้โดยตรง 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  1.สายด่วน สปสช. 1330 2.ช่องทางออนไลน์ ได้แก่ ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso, Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพ และ ไลน์ Traffy พิมพ์ไลน์ไอดี @traffyfondue 

4