ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์จุฬาฯ ชี้ทิศทางการพัฒนางานวิจัยด้านสุขภาพ ระบุควรให้น้ำหนักความสำคัญ 3 ด้าน ‘ต่อยอดอุตสาหกรรม-วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี-เชิงระบบ’


รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า การดูแลสุขภาพจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการ และหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อที่จะยกระดับสุขภาพของประชาชน งานวิจัยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก และปัจจุบันก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีขึ้น

“การดูแลชีวิตคนจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน และมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทำตามความรู้สึก ลองผิดลองถูก ซึ่งชีวิตคนไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ดังนั้นต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการและต้องมั่นใจว่าของที่นำมาใช้นั้นได้ผลจริง เพราะถ้าหากทำแล้วไม่ได้ผลก็จะเป็นการทิ้งทรัพยากรเปล่าๆ และอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และเป็นอันตรายในระยะยาว ” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า ทิศทางการวิจัยระบบสุขภาพของประเทศไทยควรมุ่งเน้นไปยัง 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. การวิจัยเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมและการแพทย์ให้มีความก้าวหน้า เป็นงานวิจัยในกลุ่มที่มีอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ที่ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามส่งเสริม และหลายฝ่ายพยายามทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

2. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางสุขภาพที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีสุขภาพของคนในประเทศ เป็นงานวิจัยที่สำคัญที่ไม่ใช่งานวิจัยที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ แต่เป็นวิจัยที่ช่วยส่งเสริมเทคโนโลยีที่ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาพยาบาลที่จำเป็นได้ในราคาที่ถูกลง

3. การวิจัยเชิงระบบ เป็นการวิจัยเพื่อส่งเสริมการจัดบริการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) และการรักษาพยาบาล หรือฟื้นฟูสมรรถภาพใช้เป็นพื้นฐานประกอบองค์ความรู้ทางด้านการจัดบริการ ซึ่งเป็นการนำเอาองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รวมถึงศาสตร์ด้านอื่นๆ มาใช้ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและระบบที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักประกันสุขภาพ การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การชักชวนประชาชนให้ฉีดวัคซีนก็ต้องเข้าใจความคิดของประชาชนที่มีต่อการฉีดวัคซีนก่อน ที่สำคัญคือ การวิจัยรูปแบบการจัดบริการสามารถเข้าถึงได้จริงในพื้นที่ประเทศไทย แต่กลับถูกให้ความสนใจน้อยเกินไป