ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เป็นอีกหนึ่งบริการสาธารณสุข ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมคุณภาพชีวิตทีดีให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะกับการได้มีฟันที่แข็งแรงในการกินอาหาร

แต่ที่น่าสนใจคือ การใช้รากฟันเทียมสำหรับโครงการนี้ ไม่ใช่รากฟันเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศเหมือนที่เคย หากแต่เป็นรากฟันเทียม ที่เป็นนวัตกรรมของคนไทย จากฝีมือคนไทยที่สามารถผลิตขึ้นได้เอง และได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และที่สำคัญมีราคาถูก

‘The Coverage’ พูดคุยกับ วรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถึงรากฟันเทียมที่เป็นฝีมือของคนไทย เพราะมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ เป็นอีกองค์กรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการวิจัย และผลิตรากฟันเทียมจนเป็นผลสำเร็จขึ้นมา ด้วยเป้าหมายเพื่อให้นวัตกรรมที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากในหลวง .9 สู่รากฟันเทียมเพื่อคนไทย

วรวุฒิ ย้อนไปจุดเริ่มต้นของการวิจัยรากฟันเทียม และนำไปสู่การผลิตขึ้นใช้ได้เองในประเทศไทย ว่า เมื่อปี 2548 ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเข้ารับการรักษาพระทนต์ (ฟัน) จากคณะทันตแพทย์ที่ถวายการรักษา

ในขณะนั้นมี .(พิเศษ) ทพญ.ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะแพทย์ ถวายการรักษาด้วยการถอนพระทนต์ จากนั้นได้กราบบังคมทูลถึงการถวายการรักษาในขั้นตอนต่อไป ซึ่งพระองค์ทรงเลือกการรักษาด้วยรากพระทนต์เทียม หรือ รากฟันเทียม เนื่องจากขณะนั้นเป็นการรักษารูปแบบใหม่ที่ทันสมัยจากต่างประเทศ อีกทั้งในประเทศไทยมีทันตแพทย์เพียงแค่ไม่ถึง 30 คน ที่สามารถรักษาได้ เพราะถือเป็นของใหม่อย่างมากในประเทศไทย

หลังถวายการรักษาให้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงพอพทัย และรับสั่งว่าเหมือนฟันจริง ใช้งานได้อย่างดี อีกทั้ง รากฟันเทียมยังดูแลไม่ยุ่งยาก และลดปัญหาฟันผุไปได้ด้วย

ต่อมาจึงถวายการรักษาด้วยรากฟันเทียมอีก 4 พระทนต์ พระองค์ทรงสอบถามคณะทันตแพทย์ที่ถวายการรักษาว่า จะสามารถใส่รากฟันเทียมให้กับประชาชนได้หรือไม่ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) หรือสิทธิ 30 บาทในขณะนั้น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ในช่วงเวลานั้น ต้องกราบทูลพระองค์ว่าไม่สามารถทำให้กับประชาชนได้ เพราะรากฟันเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงอย่างมาก ชิ้นส่วนรากฟันเทียมอย่างเดียวจะมีราคาชิ้นละประมาณ 4-5 หมื่นบาท ขณะที่ค่ารักษาก็อยู่ในหลัก 4-5 หมื่นบาท รวมแล้วหากรักษารากฟันเทียม 1 รากจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงถึงเกือบ 1 แสนบาท อีกทั้ง ส่วนใหญ่เป็นวิธีการรักษารากฟันจากฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ทันตแพทย์ที่ทำได้ในประเทศไทยก็ต้องจบจากต่างประเทศถึงจะรู้ถึงวิธีการรักษาแบบนี้

อย่างไรก็ตาม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งว่า หากประเทศไทยสามารถผลิตรากฟันเทียมได้เอง ก็น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้สูงอายุ ที่จะได้มีสภาพฟันที่ดีอยู่เพื่อใช้กินอาหาร และจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีมากยิ่งขึ้น

วรวุฒิ สะท้อนอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น มูลนิธิทันตนวัตกรรม พร้อมด้วยคณะทันตแพทย์ในขณะนั้นจาก 3 สถาบัน ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง ได้มีการพูดคุยและตกผลึกร่วมกันว่าควรจะเกิดการวิจัยเพื่อผลิตรากฟันเทียมจากฝีมือนวัตกรรมของคนไทยขึ้นมา เพื่อให้ประเทศไทยมีรากฟันเทียมที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานมาใช้งานภายในประเทศ โดยเฉพาะกับการนำไปใช้กับผู้สุงอายุที่ไม่มีฟันทั้งปาก บดเคี้ยวอาหารไม่ได้ ได้กลับมามีฟันที่แข็งแรง ได้กินอาหารที่อร่อยเหมือนเคย ซึ่งสำคัญอย่างมากที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

3

'รากฟันเทียม' ชิ้นแรก

งบประมาณกว่า 20 ล้านบาทที่ลงทุนเรื่องนี้ บวกกับระยะเวลาการวิจัยอีกราว 2 ปี นับตั้งแต่ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่ง ทีมนักวิจัยที่ร่วมมือกันได้ทำการวิจัยจนสามารถผลิตรากฟันเทียมรุ่นแรกขึ้นมาได้ และผ่านปฏิบัติการทดลองทางคลินิก หรือการทดลองใช้กับผู้ป่วยที่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งผลคือมีความปลอดภัย และจากนั้นจึงนำไปสู่กระบวนการผลิตเพื่อเตรียมรับรองมาตรฐานตามหลักสากล แต่อุปสรรคก็เกิดขึ้น

"ตอนนั้นไม่มีใครรับผลิตเลย เพราะกังวลเรื่องความเสี่ยง อีกอย่างรากฟันเทียมในเวลานั้น ส่วนใหญ่ก็เลือกนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เพราะเขามีการรักษามานานแล้วกว่า 40 ปี จึงเกิดความเชื่อมั่นมากกว่า แต่มูลนิธิทันตนวัตกรรม รวมถึงเครือข่ายที่ร่วมกันก็ไม่ท้อ เราตัดสินใจสร้างโรงงานผลิตขึ้นมาเองที่อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นรากฟันเทียมฝีมือคนไทยชิ้นแรกก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ในปี 2550" เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ กล่าว

วรวุฒิ เสริมว่า เมื่อรากฟันเทียมชิ้นแรกจากฝีมือคนไทยถูกลำเลียงจากสายพานการผลิต ก็ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรมในประเทศ และทั่วโลก โดยเฉพาะกับการได้รับรองมาตรฐานสหภาพยุโรป (CE) ที่สำคัญมาก เพื่อให้รากฟันเทียมที่เป็นฝีมือคนไทย ได้รับมาตรฐานเดียวกับกับรากฟันเทียมที่ผลิตในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งผลิตรากฟันเทียมที่ได้มาตรฐานที่สุด

วรวุฒิ กล่าวด้วยว่า จากนั้นรากฟันเทียมเล่มแรกสำหรับคนไทย ที่ได้รับพระราชทานนามชื่อรุ่นจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ว่า รุ่น 'ข้าวอร่อย' ก็ถูกนำไปรักษาให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นผ่านโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ในปี 2550 โดยเฉพาะกับการรักษาด้วยการใส่รากฟันเทียมจากโครงการฯ ที่ให้กับผู้สูงอายุคนละ 2 ราก จำนวน 18,400 คน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกด้วย ที่รัฐบาลได้ใช้รากฟันเทียมรักษาให้กับประชาชนในประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

บัตรทอง ช่วยคนเข้าถึงรากฟันเทียม

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ทีมวิจัยและพัฒนารากฟันเทียมรุ่นข้าวอร่อยให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังเกิดความต้องการมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาสภาพฟัน และต้องการได้รับรากฟันเทียมด้วยเช่นกัน จึงเกิดเป็นโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ  84 พรรษาต่อมาในอีก 4 ปี เพิ่มเติมการทำรากฟันเทียมให้อีก 8,400 คน ขณะที่ต่อมาในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติแผนทันตกรรมสำหรับนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ตั้งแต่ปี 2558-2565 เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับรากฟันเทียมอีก 4,000 คน

"แม้ว่าจะเป็นการให้รากฟันเทียมจากรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังเป็นการอนุมัติในรูปแบบของโครงการต่างๆ จากภาครัฐ แต่ว่ายังไม่มีหลักประกันทางสุขภาพที่ชัดเจนให้กับผู้สูงอายุที่มีปัญหารากฟัน ที่เมื่อตรวจกับหมอฟันแล้วว่าควรจะได้รับการรักษาด้วยรากฟันเทียม เมื่อเป็นปัญหาที่อาจส่งผลกระทบได้ในอนาคต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช. จึงเข้ามาจัดการ เพื่อให้มีการบริการสุขภาพสำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง"

เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ขยายความว่า สปสช.ลงมือศึกษาเรื่องการผลักดันให้รากฟันเทียม เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง โดยเชิญทันตแพทย์ นักวิชาการ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ รวมถึงมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ มาให้ข้อมูล และศึกษาร่วมกัน กระทั่งนำไปสู่การบรรจุให้การรักษารากฟันเทียมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์บัตรทองในปี 2565 ได้เป็นผลสำเร็จ โดยให้ใช้รากฟันเทียมจากฝีมือคนไทย

"สปสช.มองว่า ประชาชนควรเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีอย่างเท่าเทียม และมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านทางด้านสุขภาพ หรืออย่างน้อยที่สุดให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำมันแคบลง รากฟันเทียมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจน เพราะมีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงการรักษาแบบนี้ได้ ส่วนคนจนไม่ได้ใส่อย่างแน่นอน ดังนั้น หากมีสิทธิประโยชน์นี้ในบัตรทอง ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษารากฟันเทียมได้ และเป็นการักษาที่ไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย" วรวุฒิ ย้ำ

เขาเสริมอีกว่า สิทธิประโยชน์รากฟันเทียมสำหรับสิทธิบัตรทองจะมุ่งเน้นให้สิทธิกับผู้สูงอายุ ที่ผ่านการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ว่าจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยรากฟันเทียม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับ เพราะการรักษาสุขภาพช่องปาก หรือรักษาฟันก็ยังมีอีกหลายวิธี แต่หากจำเป็นต้องใช้รากฟันเทียม ผู้ป่วยก็จะได้รับสิทธินั้น แต่ต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์

“ผู้ป่วยจะต้องทำฟันปลอมใส่ก่อน แต่หากว่าฟันปลอมที่ใส่ไปใช้งานไม่ได้ดี บดเคี้ยวอาหารไม่ได้ หรือใส่แล้วมีปัญหาต่อสุขภาพช่องปาก ทันตแพทย์หรือหมอฟันจะมีการปรับแก้ แต่เมื่อใช้งานไม่ได้จริงๆ แล้วหลังการปรับแก้ ก็จะพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียมเพื่อทำการรักษา” เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ให้ข้อมูล

3

กว่าแสนรากฟันที่รักษา ต่างชาติก็ยอมรับ

ปัจจุบัน รากฟันเทียมจากนวัตกรรมคนไทยเอง ถูกพัฒนามาโดยตลอด โดยล่าสุดมีชื่อรุ่นว่า 'PRK'ที่มีที่มาจากคำว่า 'พระรามเก้า' ตั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 และที่ผ่านมาได้ถูกนำไปใช้กับคนไทยแล้วหลายหมื่นคน รากฟันเทียมถูกนำไปรักษากว่า 1.2 แสนราก รวมไปถึงจำหน่ายให้กับต่างประเทศในรูปแบบโครงการร่วมกันระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อให้รากฟันเทียมของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก ถูกนำไปใช้รักษารากฟันเทียมให้กับผู้คนจากประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ที่ใช้นวัตกรรมรากฟันเทียมของคนไทยเพื่อนำไปรักษามวลมนุษย์ตามพระประสงค์ของในหลวง รัชกาลที่ 9

วรวุฒิ เสริมด้วยว่า ปกติแล้วรากฟันเทียมจะนำเข้าจากประเทศเยอรมัน สวิสเซอแลนด์ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ นำมาใช้ในคลินิกทันตกรรม หรือร้านหมอฟันทั่วประเทศที่ให้การรักษารากฟันเทียม แต่เมื่อรากฟันเทียมรุ่น PRK ผ่านการวิจัยจากนักวิชาการ นักวิจัยด้านทันตกรรมที่เชี่ยวชาญรวม 11 คน ที่ต่อยอดให้รากฟันเทียมจากรุ่นข้าวอร่อยมีคุณภาพที่ดีขึ้น ทำให้รากฟันเทียมรุ่นนี้เป็นที่ยอมรับอย่างมากในกลุ่มหมอฟันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะมีราคาถูกและมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังมีความปลอดภัยในการใช้งาน

"ประเด็นสำคัญคือ รากฟันเทียมของบ้านเรามีราคาถูกกว่าประเทศอื่น อย่างเช่น เกาหลีใต้ที่ผลิตได้ก่อนเราประมาณ 15 ปี เขาจำหน่ายรากฟันเทียมรากละประมาณ 2 หมื่นบาท แต่หากใช้รากฟันเทียมจากฝีมือคนไทย ราคาก็ถูกลงเหลือรากละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เรากำหนดเพื่อส่งออก ส่วนในประเทศจะอยู่ที่ราว 3,000 บาทต่อราก เห็นได้ชัดว่าราคามันต่างกัน แต่คุณภาพมาตรฐานเหมือนกัน หลายประเทศจึงเลือกใช้รากฟันเทียมของไทย รวมถึงคลินิกทำฟันเอกชนของบ้านเรา ที่ส่วนใหญ่ก็เลือกใช้รากฟันเทียมรุ่น PRK ของเราเองด้วย " เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม กล่าวในตอนท้าย