ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จัดอบรมเชิงปฏิบัติการอัพเดทองค์ความรู้เพิ่มศักยภาพแก่บุคลากรผู้รับผิดชอบงานด้าน HIV ของ สปสช.เขตพื้นที่ ด้านนายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทยแนะหลังจากนี้ต้องเพิ่มการตรวจคัดกรอง HIV เชิงรุกให้มากขึ้น


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บุคลากร ด้านเอชไอวี เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยุติปัญหาเอดส์ ระหว่างวันที่ 28-29 มี.ค. 2566 ณ เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีผู้แทนจากสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) UNAIDS  โรงพยาบาลบางละมุง หน่วยบริการมาตรา 3 ภาคประชาสังคมด้านเอชไอวี ด้านผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ในพื้นที่เมืองพัทยา ตลอดจนผู้รับผิดชอบงานด้านเอดส์จาก สปสช. เขตพื้นที่ต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์และองค์ความรู้ล่าสุดเกี่ยวกับโรคเอดส์ พร้อมร่วมระดมสมองพัฒนาแผนยุทธศาสตร์และข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในอนาคต

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. กล่าวว่า การอัพเดทความรู้เรื่องเอชไอวี จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการที่มาจัดอบรมที่พัทยาในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีภาคประชาสังคมที่มีคุณภาพ มีผลงานการทำงานที่ต่อเนื่องในการช่วยเหลือพนักงานบริการที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ตลอดจนสามารถพัฒนาตัวเองในเรื่องการวิจัยสร้างองค์ความรู้ ดังนั้นทีม สปสช. และทีมภาคประชาชนจะได้มาร่วมกันอัปเดทความรู้จากสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย UNAIDs และ IHRI รวมทั้งได้ดูงานในพื้นที่จริง ที่มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการพัทยา (SWING) ร่วมกับมูลนิธิฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และซิสเตอร์ชลบุรี การลงพื้นที่ศึกษาการทำงานเชิงรุกการแจกถุงยางอนามัยให้กับกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ผู้รับผิดชอบงานด้านเอชไอวีของ สปสช. สามารถนำกลับไปขับเคลื่อนกลไกการทำงานในพื้นที่ของตน

1

“การประชุมนี้จะได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน และจุดที่ สปสช.ควรดำเนินการ โดยเฉพาะเรื่องความร่วมมือระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพที่ยังมีช่องว่างระหว่างรอยต่อในการเปลี่ยนสิทธิ ซึ่งต้องหาทางทำให้ระบบทั้ง 3 ระบบเชื่อมต่อกันให้ได้ และหลังจากเวิร์กชอปครั้งนี้แล้ว สปสช.ยังจะมีการประชุมต่อเนื่องในเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เช่น HIV Self-test อีกด้วย” นพ.รัฐพล กล่าว

นพ.พีระวงษ์ วีรารักษ์ จากสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในแง่ของการรักษาในปัจจุบันถือว่าพัฒนาไกลไปมากแล้ว ในอดีตช่วงที่ประเทศไทยเกิดการระบาดใหม่ๆ มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่าปีละ 100,000 ราย ยาที่นำมารักษาก็หวังเพียงเพื่อชะลอให้เสียชีวิตช้าลงเท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือประมาณปีละ 5,000-6,000 คน ยาที่ใช้ในการรักษาก็สามารถช่วยยืดอายุขัยให้ยาวนานเท่ากับคนปกติทั่วไปและผู้ป่วยยังรักษาฟรี ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามีคุณภาพชีวิตเทียบเท่าผู้ไม่ติดเชื้อ สามารถทำงานได้ มีครอบครัวได้ มีลูกได้

นพ.พีระวงษ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการพูดถึงการแจกชุดตรวจหาเอชไอวีด้วยตนเอง (Self-test) อย่างไรก็ดี ปกติแล้วการจะตรวจพบแอนติบอดี้ซึ่งสะท้อนว่ามีการติดเชื้อนั้น จะต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อถึงจะตรวจพบ การมาตรวจในระยะ 1-2 สัปดาห์แรกอาจได้ผลลบลวง ดังนั้นชุดตรวจแบบ Self-test จึงเหมาะกับคนที่มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำ หรือคนที่ตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอ แต่กับคนที่เพิ่งมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยแล้วมาตรวจอย่างรวดเร็ว อาจจะได้ผลลบลวง ดังนั้น ถ้าตรวจแล้วได้ผลลบก็จะต้องตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยัน

2

“การตรวจเลือด เมื่อตรวจแล้วไม่ว่าจะเป็นผลบวกหรือลบ เราจะให้ความสำคัญเท่ากัน ถ้าผลบวกก็เข้าสู่กระบวนการรักษา แต่ถ้าเป็นผลลบก็ต้องให้ความสำคัญเหมือนกัน เพราะแสดงว่าเขามีความเสี่ยงถึงต้องมาตรวจ ต้องใส่มาตรการป้องกันการติดเชื้อให้เขา เช่น การทานยาป้องกันหลังสัมผัสเชื้อ (PEP) หรือทานยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อ (PrEP) ควบคู่ไปกับการป้องกันวิธีอื่นๆ เพื่อให้คนๆนั้นคงผลตรวจเป็นลบต่อไป” นพ.พีระวงษ์ กล่าว

ด้าน พญ.จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์ นายกสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานด้านเอดส์มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในไทย ภาพของผู้ป่วยในยุคแรกเป็นภาพจำด้านลบ เช่น เป็นคนสำส่อนทางเพศ ป่วยแล้วร่างกายทรุดโทรมและตายอย่างทุลักทุเล ทำให้สังคมเกิดความรังเกียจ แม้ปัจจุบันการรักษาจะพัฒนาไปไกลแล้ว แต่การตีตรานี้ก็ยังมีอยู่ในสังคมมานาน 40 กว่าปี

นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างที่เป็นปัญหาอยู่ คือ 1. Late Presentation ความน่ากลัวของเอชไอวี คือ ผู้ที่ติดเชื้อในช่วง 5-10 ปีแรกไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่ไปสู่คนอื่นได้ แต่จากคนไข้ที่เจอ คนที่ CD4 ต่ำกว่า 200 มีกว่า 50% เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่แสดงอาการจึงไม่มาตรวจ ดังนั้นต้องค้นหาคนกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุดเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษา จะได้ไม่แพร่เชื้อต่อให้คนอื่น การตรวจแบบตั้งรับในโรงพยาบาลจึงไม่เพียงพอ ต้องทำการตรวจค้นหาในเชิงรุกให้มากขึ้น รวมทั้งต้องหาวิธีการแก้ในเรื่องการตีตราจากสังคมให้ได้ด้วย

2. Limitation of ART Regimens ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยาต้านไวรัสสูตรเก่ากำลังถูก disrupt เพราะจะเปลี่ยนมาใช้ยาสูตร TLD ซึ่งเป็นสูตรใหม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรฟันธงหรือบังคับให้คนไข้ว่าต้องรีบเปลี่ยนมาใช้ยาสูตรนี้ทันที เพราะจะเกิดความวุ่นวาย ยาใหม่ไม่มีเข้ามา ยาเก่าก็หมดลง ควรรอให้ตลาดของยาสูตรใหม่นี้นิ่งก่อนแล้วจึงค่อยเลิกใช้ยาสูตรเก่า

3. Loss to follow-up ความสำคัญคือคนไข้ต้องทานยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิตเพื่อกดไวรัสจนถึงระดับที่ตรวจหาไม่พบ แต่จะมีหลายปัจจัยทำให้คนไข้ต้องขาดการทานยาต่อเนื่อง เช่น เปลี่ยนสิทธิสุขภาพจากกองทุนหนึ่งไปอยู่อีกกองทุนหนึ่ง โควิด น้ำท่วม ติดคุก คนไข้รู้สึกว่าแข็งแรงดีเลยหยุดยา ทานจนเบื่อเลยหยุดยา หรือไม่มีคนคอยย้ำเตือน ฯลฯ ดังนั้น ต้องฝาก สปสช. ในเรื่องการวางระบบ Detect และติดตามในเคสที่หยุดทานยา

4. Lack of policy implement สปสช. มีนโยบายดีๆ หลายอย่าง เช่น ยา PEP ซึ่งประกาศให้เป็นสิทธิประโยชน์ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 แต่เดือนก่อนตนเจอเคสผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์แบบมีความเสี่ยงและต้องการรับยา PEP จึงแนะนำให้ไปโรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน ไปที่ห้องฉุกเฉินบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อและขอรับยา PEP แต่ปรากฎว่าไปบอกพยาบาลหน้าห้องฉุกเฉินแต่ถูกปฏิเสธหมด จนต้องแกล้งป่วยถึงเข้าไปพบแพทย์ได้ นี่เป็นตัวอย่างนโยบายที่คิดว่าง่าย คิดว่าทุกคนในโรงพยาบาลต้องรู้ แต่ในความจริงแล้วกลับไม่ใช่

3

5. Less Healthcare Workers ไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในโรงพยาบาลสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์   ไม่มีเส้นทางการเติบโตในสายงาน คนที่ทำงานอยู่คือทำเพราะรักงานจริงๆ

ขณะที่ นพ.จักรภัทร บุญเรือง แพทย์นักวิจัย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI)  กล่าวว่า แม้ สปสช.จะมีแพคเก็จด้านบริการที่ดีมากๆ แต่การเข้าถึงบริการด้านเอชไอวี ค่อนข้างมีอุปสรรคหรือ Barrier เช่น การตีตราจากสังคมและตัวเอง ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี บางกลุ่มให้ไม่กล้ามารับบริการ ซึ่ง IHRI ได้พัฒนานวัตกรรมรูปแบบบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น 

หนึ่งในนวัตกรรมรูปแบบที่ทำสำเร็จแล้วคือ Community Based Same Day ART เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยคือบริการเกี่ยวกับโรคเอดส์ส่วนมากเกิดขึ้นใน Community Based Organization หรือศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งจัดบริการโดยองค์กรภาคประชาสังคม ขณะที่เรื่อง Same Day ART เป็นนโยบายใหม่ในการเริ่มให้ยาต้านไวรัสภายใน 24 ชั่วโมง หลังทราบผลว่าติดเชื้อ ซึ่ง IHRI มองว่าน่าจะให้บริการนี้ในชุมชนได้ จึงเกิดเป็น Community Based Same Day ART ในปี 2564-2565โดยดำเนินการในลักษณะงานวิจัย รับสมัครอาสาสมัครเข้าโครงการ 399 คน เมื่อสิ้นสุดการวิจัยในเดือน ก.ย. 2565 พบว่ามีผู้ที่เริ่มทานยาได้ภายใน 24 ชม.หลังทราบผลตรวจเลือดบวกได้มากถึง 95% หลังจากนั้นก็เริ่มขยายการให้บริการไปในหลายพื้นที่ ซึ่งหาก สปสช.เขตพื้นที่ต่างๆต้องการขยายบริการนี้ สามารถเดินเข้าไปคุยกับองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ในพื้นที่นั้นๆ ได้เลย 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของ HIV Self-test ซึ่งยังไม่แพร่หลายในไทย เหตุผลเพราะในไกด์ไลน์การดูแลผู้ป่วยของไทยมีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก แต่ในปี 2022 องค์การอนามัยโลกออก Differentiated and simplified pre-exposure prophylaxis for HIV prevention  ระบุว่า HIV Self-test เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้ที่ทานยา PrEP หรือสำหรับผู้ที่ต้องการตรวจด้วยตัวเอง ซึ่งแค่ประโยคนี้สามารถเปิดประตูให้บริการได้หลายอย่างมาก 

2

“ทางคลินิกพริบตาของ IHRI ได้เริ่มจัดบริการ PrEP Telehealth โดยใช้ HIV Self-test เป็นตัวช่วย คนไข้สามารถติดต่อเข้ามาทางไลน์ คลินิกจะส่งชุดตรวจไปให้ที่บ้าน เมื่อได้ผลตรวจแล้ว หากผลตรวจเป็นลบ คลินิกก็จะส่งยา PrEP ให้ได้เลยภายในวันเดียวกัน เช่นเดียวกับกรณีคนที่รับยาอยู่ประจำก็สามารถส่งผลตรวจมาให้แล้วรอรับยาได้เลย” นพ.จักรภัทร กล่าว

นพ.จักรภัทร กล่าวต่อไปว่า ผลลัพธ์จากการจัดบริการ PrEP Telehealth พบว่ามีสัดส่วนของคนที่ไม่เคยรับการตรวจเชื้อเอชไอวีมาก่อนในชีวิตเข้ามารับบริการมากขึ้น สะท้อนว่าบริการนี้เข้าถึงกลุ่มประชากรลับที่มีความเสี่ยงติดเชื้อได้มากขึ้น แต่ปัญหาคืออัตราการไม่แจ้งผลตรวจกลับคืนมาที่คลินิกยังสูง เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการเปิดเผยตัว ยังกลัวเรื่องการตีตราจากสังคม จึงเป็นโจทย์สำคัญของ สปสช. ว่าจะออกแบบระบบการเบิกจ่ายอย่างไรที่จะไม่ให้ผู้รับการตรวจ HIV Self-test เปิดเผยตัวตน เช่น อาจต้องมีกองทุนหนึ่งที่สามารถเบิกจ่ายโดยไม่ต้องใช้เลข 13 หลักยืนยันตัวเอง เป็นต้น รวมทั้งต้องทำการอัพเดท National Guideline ของประเทศไทยให้สามารถใช้ HIV Self-test ได้ด้วย และสุดท้ายคือให้ภาครัฐมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์สุขภาพชุมชน ทั้งในแง่เงินสนับสนุน และการออกกฎระเบียบเพื่อเอื้อต่อการให้บริการด้านเอชไอวี ต่อไปในอนาคต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw