ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ได้พัฒนาบุคลากรภายใต้แนวคิด ‘สร้างสุขด้วยสติในองค์กร’ หรือ Mindfulness In Organization (MIO) เพื่อสร้างความตระหนักให้บุคลากรทำงานอย่างมี ‘คุณค่า’ ใช้การพัฒนาจิตนำสมาธิและสติเป็นเครื่องพัฒนาคุณค่าภายในและความสุขในการทำงาน สู่พฤติกรรมบริการที่เป็นเลิศ โดยตั้งเป้าให้เป็นองค์กรต้นแบบแห่งสุขภาวะด้วยสติให้เป็นวิถีและวัฒนธรรม เพื่อผู้รับและผู้ให้บริการมีความสุข

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 8 เล่าว่า โรงพยาบาลหนองบัวลำภู มุ่งพัฒนาบุคลากรในทุกระดับเพื่อให้การบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการพัฒนาจิตของบุคลากรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

3

ทั้งนี้จึงได้นำแนวคิด “สร้างสุขด้วยสติในองค์กร” หรือ Mindfulness In Organization (MIO) มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือพัฒนา เพื่อสร้างความตระหนักให้บุคลากรเห็นถึงคุณค่าของการพัฒนาสติ เกิดทักษะสติสื่อสารในงานบริการ ซึ่งจะนำสู่คุณลักษณะที่สำคัญ

อาทิ ความรัก ความเมตตา เห็นอกเห็นใจ ให้อภัย อดทน รับผิดชอบ ทำงานร่วมกันบนรากฐานความสัมพันธ์ที่ดี และเกิดพฤติกรรมบริการที่เป็นเลิศ

สำหรับการดำเนินการ ครอบคลุมทั้งในกลุ่มผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรต้นแบบแห่งสุขภาวะด้วยสติให้เป็นวิถีและวัฒนธรรม พัฒนาคุณค่าภายในสู่การบริการด้วยสติ สร้างสุขทั้งผู้รับและผู้ให้บริการ และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

2

นพ.ปราโมทย์ กล่าวอีกว่า แนวคิด “สร้างสุขด้วยสติในองค์กร” เป็นการพัฒนาจิตด้วยสติ ถือเป็นคุณค่าที่สำคัญของทุกคนในองค์กร และกำหนดให้สติเป็นสมรรถนะสำคัญของบุคลากรทุกคน โดยมีการกำหนดแผนงานและตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างเป็นระบบ ทั้งระดับบุคคล (สติในงาน) ทีม (สติในทีม) องค์กร (สติในการขับเคลื่อนพันธกิจองค์กร) และสติในการพัฒนาคุณภาพบริการ พร้อมทั้งขยายการดำเนินงานสู่เครือข่ายบริการสุขภาพของโรงพยาบาล ผ่านกิจกรรมต่างๆ

อาทิ อบรมฟื้นฟูพัฒนาจิตให้เป็นวิถีและวัฒนธรรมองค์กร, สร้างและพัฒนาศักยภาพทีมวิทยากรเพื่ออบรมฟื้นฟูบุคลากรให้เกิดทักษะขั้นพื้นฐาน, จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน และการทำสมาธิก่อนการปฏิบัติงาน/การประชุม เป็นต้น

2

จากการพัฒนาบุคลากรด้วยแนวคิด “สร้างสุขด้วยสติในองค์กร” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 พบว่าทำให้บุคลากรมีทักษะในการฝึกสติ มีความเมตตาต่อผู้อื่น รู้จักปล่อยวางหลังนึกถึงเหตุการณ์ที่ยุ่งยากใจ สามารถสื่อสารอย่างมีสติและทำงานเป็นทีม ลดความขัดแย้ง มีความสามัคคีและความผูกพันต่องานอยู่ในระดับสูง

ล่าสุดในปี 2565 พบว่า ผู้รับบริการมีความพึงพอใจในการให้บริการของแผนกผู้ป่วยนอกถึงร้อยละ 92.32 จากเดิม 86.67 แผนกผู้ป่วยใน ร้อยละ 89.78 จากเดิม 86.64 และแผนกอุบัติเหตุฉุกเฉิน ร้อยละ 85.2 จากเดิม 82.88  และได้รับคำชื่นชมจากผู้รับบริการมากขึ้นชัดเจน

2