ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่ไปยัง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เยี่ยมชม ‘โมเดล Temple Ward’ ให้พระสงฆ์ทำหน้าที่แทนพยาบาล-ใช้กุฏิแทนห้องพัก ‘ดูแล-รักษา-ฟื้นฟู‘ พระสงฆ์อาพาต-ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง โดยวัดบุญนารอบ 


เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เยี่ยมชม “โมเดล Temple Ward” การดูแลรักษา และฟื้นฟูสุขภาพที่วัด โดยเป็นการดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธและประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งดำเนินการโดย ‘วัดบุญนารอบ’ บูรณาการร่วมกับ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านบุญนารอบ (อสม.) โรงพยาบาลเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช

สำหรับโมเดล Temple Ward เป็นการพัฒนามาจากโครงการวิจัยโดยศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สปสช. มีจุดประสงค์เพื่อให้พระสงฆ์มีบทบาทในการดูแลรักษา (พระคิลานุปัฎฐาก) พระสงฆ์ที่อาพาธ รวมถึงประชาชนที่มีภาวะพึ่งพิง ผ่านการอบรมการหลักสูตรจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จำนวน 420 ชั่วโมง โดยเริ่มต้นนำร่องใน 5 จังหวัดจาก 5 ภูมิภาคได้แก่ นครศรีธรรมราช ลำพูน ระยอง อำนาจเจริญ และปทุมธานี

1

พระมหาบวร ปวรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดบุญนารอบ เปิดเผยว่า ศูนย์พระคิลานุปัฎฐาก (ที่พำนักสำหรับดำเนินการ Temple Ward) ให้การดูแลรักษา ตลอดจนฟื้นฟูพระภิกษุที่อาพาธจำนวน 4 รูป ในจำนวนนี้แบ่งเป็น พิการขา 1 รูป โรคซึมเศร้า 1 รูป โรคประจำตัว 2 รูป และประชาชนทั่วไป 1 คน ซึ่งเป็นไปด้วยจิตสาธารณะตามพระธรรมวินัยที่พระจะดูแลพระด้วยกัน รวมถึงเผื่อแผ่ไปถึงญาติโยมในชุมชนที่มีความลำบาก

พระมหาบวร ปวรธมฺโม กล่าวต่อไปว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย เบาะลม ไม้เท้าช่วยพยุงตัว เครื่องดูดเสมหะ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่  ที่วัดนำมาใช้มาจากการได้รับบริจาคและวัดเป็นผู้สนับสนุนในการจัดซื้อจัดหามาเอง ส่วนผู้ทำหน้าที่ดูแลเบื้องต้นให้กับพระสงฆ์อาพาตก็คือ พระคิลานุปฎฐากที่ได้รับการอบรมมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การฉันยา เปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ การชำระล้างร่างกาย ไปจนถึงการนำส่งโรงพยาบาลเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และโรงมหาราชนครศรีธรรมราช ที่เป็นหน่วยรับส่งต่อ 

นอกจากนี้ ยังมี อพม. และ อสม. มาช่วยเสริมในการดูแล ตรวจเยี่ยม และทำความสะอาดกุฏิ สัปดาห์ละครั้ง อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่มาตรวจเยี่ยมในส่วนของผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียงด้วย

2

“เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ สปสช. เห็นถึงบทบาทของพระในการช่วยดูแลพระด้วยกัน รวมถึงญาติโยมที่ลำบาก โดยส่วนหนึ่งที่ สปสช. จะเข้ามาช่วยเหลือก็คือการช่วยย้ายสิทธิให้กับพระที่ไม่ได้อยู่ตามทะเบียนบ้าน ให้สามารถได้รับการรักษาในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ได้ อีกทั้งการแนะนำถึงงบประมาณที่ทางเทศบาลสามารถใช้ในการช่วยเหลือการดูแลรักษาที่วัดทำอยู่ได้” เจ้าอาวาสวัดบุญนาราบ กล่าว 

ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า โมเดลที่วัดบุญนารอบมีการดำเนินการอยู่เป็นการนำพระภิกษุที่อาพาตจากโรงพยาบาล ซึ่งได้รับการรักษาจนอาการโดยรวมดีขึ้นและกำลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู กลับมาดูแลรักษาที่วัดแทนโดยมีกุฏิจำนวน 4 หลัง หรือที่เรียกว่า ศูนย์พระคิลานุปัฎฐาก เป็นสถานที่พำนัก 

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า โดยรูปแบบแล้วสอดคล้องกับแนวทางการเบิกจ่ายกรณีให้บริการแบบผู้ป่วยในที่บ้าน (Home Ward) สำหรับสถานพยาบาล ที่ สปสช. ได้มีการประกาศใช้เมื่อปลายปี 2565 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดความแออัดในโรงพยาบาล ตลอดจนให้เตียงของโรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้

3

ดังนั้น วันนี้จึงได้พูดคุยทำความเข้าใจกันว่าด้วยรูปแบบในการให้บริการที่ตรงกันกับประกาศของ สปสช. ทางวัดและหน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแลสามารถที่จะเบิกจ่ายค่าบริการที่ใช้ในการดูแลรักษาจาก สปสช. ได้ รวมถึงถ้ามีการทำบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) สามารถดำเนินการโดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ได้ หรือในส่วนของการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ก็มีกองทุนดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว (Long Term Care: LTC) ตลอดจนบางรายที่มีความพิการต้องการอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็มีรองรับอยู่เช่นกัน 

“หลังจากนี้ทาง สปสช. เขต 11 จะประสานในเรื่องวิธีการใช้ต่อไป เพื่อให้โรงพยาบาลเทศบาลนครนครศรีธรรมราชมาหนุนเสริมโมเดลของวัดบุญนารอบในส่วนนี้ นอกจากนี้การให้ชุมชนเข้ามาร่วมดูแลในโมเดลนี้ ยังสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างดี โดยเฉพาะจุดเด่นคือการผลิตพระคิลานุปัฎฐากหรือพระที่ทำหน้าที่ดูแลอาการของพระสงฆ์ด้วยกันแทนพยาบาลได้ด้วย” ทพ.อรรถพร กล่าว 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw