ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาฯ เผยหากประชาชนได้รับสารซีเซียมที่ปนเปื้อนจากอาหาร ใช้ยา  Prussian blue ต้านพิษได้ ชี้ตัวยาช่วยจับซีเซียม-137 ในลำไส้ไม่ให้ซึมซับเข้าสู่ส่วนอื่นได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีสำรอง


ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา” เปิดเผยกับ “The Coverage” เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2566 ตอนหนึ่งว่า สารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง หากเป็นทางปากผ่านการรับประทาน จะมี “ยาต้านพิษ” ที่ชื่อว่า “Prussian blue” สามารถดักจับซีเซียม-137 ได้ในลำไส้ หรือระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ ซีเซียม-137 ไม่ซึมซับไปสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

“ในทางกลับกัน หากรับซีเซียม-137 ผ่านการสัมผัส หรือจากการหายใจ ยา Prussian blue ก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการต้านพิษซีเซียมได้” ศ.นพ.วินัย กล่าว

ศ.นพ.วินัย กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีเคยสำรองยา “Prussian blue” เอาไว้ตั้งแต่เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว เพื่อใช้กับกรณีที่อาจจะมีเหตุสารโลหะหนักแพร่กระจายและสร้างอันตรายต่อสุขภาพประชาชน แต่จนถึงปัจจุบันก็ไม่เคยเกิดเหตุขึ้น และยาก็หมดอายุไปแล้ว จากนั้นก็ไม่มีการสำรองเอาไว้อีก อย่างไรก็ตาม คาดว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังจัดหายาเพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้อยู่เช่นกัน

"สิ่งสำคัญคือการพิสูจน์ คือหากพบประชาชนที่ได้รับซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกาย ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ารับสารมาอย่างไร เข้าสู่ผ่านทางไหน ถ้ามาจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารมา ยา Prussian blue ก็อาจเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยได้" ศ.นพ.วินัย กล่าว 

ศ.นพ.วินัย กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 22 มี.ค. 2566 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นการใช้ยาต้านพิษ Prussian blue กับซีเซียม-137  เช่นกัน ซึ่งจะมีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญมาให้ความกระจ่างกับประชาชนเกี่ยวกับซีเซียม รวมถึงความรู้เรื่องการใช้ยาต้านพิษ เพราะขณะนี้ประชาชนกำลังสับสนอย่างมาก

“ปัจจุบัน ยา Prussian blue ไม่ได้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากองทุนใดเลย แต่ส่วนตัวเชื่อว่า หากประชาชนต้องใช้ยารายการนี้ รัฐบาลก็จะสนับสนุนให้เข้าถึงได้ทุกสิทธิอยู่แล้ว” ศ.นพ.วินัย กล่าว