ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทำความเข้าใจกันใหม่ เอากันให้ชัดๆ จะได้บอกลาความสับสนกันสักที

สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เรื่องการ ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน’ นั้น ขอให้เข้าใจกันตามนี้

มีคำอยู่ 2 คำ ซึ่งคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

1. เจ็บป่วยฉุกเฉิน : คำนี้อาจจะมีการเรียกด้วยคำอื่นอีก เช่น เจ็บป่วยฉุกเฉิน (ธรรมดา) เจ็บป่วยฉุกเฉินไม่วิกฤต หรือรวมถึงกรณี ‘อุบัติเหตุ’ ไม่ร้ายแรงด้วย

2. เจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤตชีวิต : อาจเรียกว่า เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต เจ็บป่วยฉุกเฉินสีแดง หรือที่คุ้นชิ้นกันในชื่อสิทธิประโยชน์ UCEP

ทั้งสองคำนี้ใช้คำว่า “ฉุกเฉิน” เหมือนกัน แต่การใช้สิทธิการรักษาไม่เหมือนกันเลย

อธิบายอย่างง่ายดังนี้

เจ็บป่วยวิกฤตชีวิต คือหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง ตรงนี้จะมีเกณฑ์กำหนดอยู่ว่าอาการแบบใดถึงเข้าเงื่อนไข ‘สีแดง’ หรือ ‘วิกฤต’

เฉพาะผู้ที่เข้าเกณฑ์วิกฤตเท่านั้น!!! สามารถเข้ารับบริการ โรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และใช้เอกสารเพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น เมื่อพ้นระยะวิกฤต 72 ชั่วโมง จะส่งรักษาต่อที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิต่อ

สรุปง่ายๆ คือ ฉุกเฉินวิกฤตชีวิต = รักษาได้ทุกโรงพยาบาล = ฟรี

ส่วน เจ็บป่วยฉุกเฉิน (ไม่วิกฤต)” คือมีอาการตามเกณฑ์ที่กำหนดเช่นกัน (สีเหลือง) แต่ก็จะไม่รุนแรงหรือเร่งด่วนเท่า ‘สีแดง’

ผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินแต่ไม่วิกฤต!!! เข้ารักษาได้ เฉพาะโรงพยาบาลรัฐ ที่ใกล้ที่สุด โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวเช่นกัน

ปัญหาก็คือ ... มีเคสจำนวนมากที่อยู่ใน ‘อาการสีเหลือง’ คือไม่วิกฤต แต่ถูกส่งตัวไปรักษา ณ ‘โรงพยาบาลเอกชน’ และถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลในท้ายที่สุด

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน อธิบายผ่าน “The Coverage” เพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างง่ายที่สุดว่า ถ้าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ (สีแดง) เท่านั้น ถึงจะเข้าโรงพยาบาลเอกชน และใช้สิทธิตามโครงการ UCEP ได้ 72 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบบ่อยมากคือผู้ป่วยที่มี ‘อาการกำกึ่ง’ ระหว่างป่วยฉุกเฉินไม่วิกฤติ (สีเหลือง) กับป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ (สีแดง) ถ้าญาติผู้ป่วยคิดว่าเป็นสีแดงและพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลเอกชน ทว่าโรงพยาบาลบอกว่าเป็นสีเหลือง ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกเรียกเก็บค่ารักษาหลักแสนบาท ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเคสแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว

ดังนั้น ถ้าไม่แน่ใจว่า ‘สีแดง’ หรือ ‘สีเหลือง’ การส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลภาครัฐย่อมชัวร์กว่าในแง่ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลฟรี