ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) จ.สตูล ลุยจัดเวทีประสานความเข้าใจกับหน่วยบริการรายอำเภอ หวังประสานความร่วมมือด้านการรับเรื่องร้องเรียนมากขึ้น พร้อมขยายการทำงานกับภาคีอื่นๆเพื่อตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในกลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่ห่างไกล


นางกัลยาทรรศน์ ติ้งหวัง ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถููกร้องเรียน หรือ หน่วย 50(5) จ.สตูล กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานของหน่วยว่า ในปีนี้ หน่วย 50 (5) จ.สตูล เน้นการดำเนินงานใน 2-3 ประเด็นหลักๆ คือ 1.การประสานหน่วยบริการ โดยในพื้นที่ จ.สตูล มีทั้งหมด 7 อำเภอ ที่ผ่านมาหน่วยบริการใน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองสตูล อ.ละงู และ อ.ท่าแพ ทำงานรับเรื่องร้องเรียนร่วมกับหน่วย 50(5) ได้ดี แต่ในส่วนของอีก 4 อำเภอที่เหลือยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันอยู่บ้าง เช่น พยายามไกล่เกลี่ยปิดเคสร้องเรียนเอง บางครั้งผู้ป่วยเข้าข่ายได้รับเงินชดเชยตามมาตรา 41 ก็ไม่ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ม.41 พิจารณา เป็นต้น ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา ทางหน่วย 50 (5) จึงได้จัดเวทีรายอำเภอ เชิญหน่วยบริการตลอดจนเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ทั้งระดับอำเภอและตำบล มาร่วมพูดคุยว่าจะประสานการทำงานร่วมกันอย่างไร และได้ข้อสรุปว่าหลังจากนี้เมื่อเคสต่างๆ ทางหน่วย 50(5) จะรับเรื่องร้องเรียนแล้วช่วยประสานโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่อจากนี้ก็จะรอดูว่าสิ่งที่ได้พูดคุยกันไปนั้นมีความคืบหน้าอย่างไร

1

ประเด็นที่ 2. การขยายการทำงานกับภาคีอื่นๆ โดยขณะนี้มีการหารือเพื่อตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในพื้นที่ของกลุ่มชาวมานิ การตั้งศูนย์ประสานงานฯในพื้นที่ห่างไกล เช่น เกาะหลีเป๊ะ รวมทั้งการขยายเครือข่ายการทำงานไปกับเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เป็นต้น เช่นเดียวกับงานประชาสัมพันธ์สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ก็มีการจัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยของสภาองค์กรของผู้บริโภค ทำการประชาสัมพันธ์ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งเรื่องการเข้าถึงสิทธิบัตรทอง ตลอดจนประสานงานกับกลุ่มบ้านมั่งคง ในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องสิทธิแก่ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนติดป่าชายเลน รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนหรือให้คำปรึกษาต่างๆให้สามารถเข้าถึงสิทธิได้

ในส่วนของประเด็นที่ 3. การรับเรื่องร้องเรียน ทางหน่วย 50(5) ทำงานคู่กับหน่วยของสภาองค์กรของผู้บริโภค ทำให้สามารถขยายเครือข่ายศูนย์ประสานงานฯ ได้ครอบคลุมทุกตำบลใน จ.สตูล และมีการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายอย่างต่อเนื่องทุกปี ให้สามารถรับเรื่องร้องเรียนตลอดจนให้คำแนะนำในการเข้าถึงสิทธิแก่ประชาชนในพื้นที่ได้ ซึ่งหากในพื้นที่ส่งเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์มาที่หน่วย 50(5) ก็จะมีทีมงานช่วยกลั่นกรองและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

2

“ตอนนี้เรามีศูนย์ประสานงานรับเรื่องร้องเรียนในทุกอำเภอ และที่ผ่านมาเราค่อยๆสร้างความเข้มแข็งเพื่อยกระดับให้เขาเป็นองค์กรระดับอำเภอให้ได้ ทั้งด้านอาคาร สถานที่ บุคลากร รวมทั้งผลักดันให้เครือข่ายระดับอำเภอลงไปสร้างกลไกแบบนี้ในระดับตำบล รวมทั้งสนับสนุนให้มีตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น เพื่อที่จะได้สามารถนำงบมาเสริมการทำงานในด้านการส่งเสริมป้องกันโรคและการเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น”นางกัลยาทรรศน์ กล่าว

ด้าน น.ส.อนัญญา แสะหลี ผู้ประสานงานหน่วย 50(5) จ.สตูล กล่าวว่า ภาพรวมการร้องเรียนร้องทุกข์ในปีนี้ถือว่าค่อนข้างมาก ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับโควิด-19 เช่นเดียวกับการขอคำแนะนำเรื่องสิทธิก็มีมากขึ้น โดยมีเรื่องร้องทุกข์ 64 เรื่อง ร้องเรียนมี 15 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเคสที่ขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 ประมาณ 6 เคส เช่น โรงพยาบาลไม่ส่งต่อ ส่งต่อช้า ป่วยด้วยโรคอื่นไปโรงพยาบาลแล้วโรงพยาบาลตรวจพบว่ามีเชื้อโควิด-19 จึงให้กลับบ้าน พอกลับมาแล้วเกิดเสียชีวิต เป็นต้น

 

2

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ