ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ร่อนแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมจาก สธ. กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พร้อมทั้งทวงถามความชัดเจน กรณีค่าตอบแทนฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ ที่ต้องครอบคลุมทุกวิชาชีพ ทุกสายงานที่ปฏิบัติงานในชายแดนใต้


สมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 เรียกร้องความเป็นธรรมจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งทวงถามความชัดเจน กรณีค่าตอบแทนฉบับที่ 10 ชายแดนใต้ ที่ครอบคลุมทุกวิชาชีพ ทุกสายงานที่ปฏิบัติงานในชายแดนใต้

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก สธ. ได้ประกาศหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ (ฉบับ10) โดยใช้เงินบำรุงแค่ 4 วิชาชีพ (แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ) ในอัตรา 1,000 – 10,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งถือว่าได้สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำในตลอดระยะเวลาหลายปี เนื่องจากในจังหวัดชายแดนใต้มีสหวิชีพอื่นๆ และสายงานอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 วิชาชีพข้างต้น ร่วมกันปฏิบัติงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย และมีความเสี่ยงภัยไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดเช่นนี้ส่งผลต่อขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสมาพันธ์ฯ ได้ยื่นข้อเสนอและติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2559 จนมีการตั้งคณะทำงานร่างหลักเกณฑ์ฉบับ10 ของเขตตรวจสุขภาพที่ 12 ในเวลาต่อมา และมีการเสนอร่างฉบับปรับปรุงต่อ สธ. กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง ในปี 2562 ตามลำดับ ทว่าไม่ทราบด้วยเหตุผลใด จนถึงขณะนี้ สธ.ไม่เคยประกาศหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับ10 ฉบับปรับปรุง แต่มีการประกาศให้ค่าตอบแทนเฉพาะ 4 วิชาชีพ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในการออกหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน 5 ฉบับ ตาม ว.79 ลงวันที่ 3 ก.พ. 2566 มีการปรับปรุงรายละเอียดทุกฉบับ โดยเฉพาะค่าตอบแทนชายแดนใต้ที่มีการลงนามประกาศใช้โดยผู้มีอำนาจลงนามของ สธ. และปรากฏสาระสำคัญที่ให้สหวิชาชีพได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติม ตรงกับร่างของเขตตรวจสุขภาพที่ 12 ที่เคยยื่นเสนอมา แต่กลับมีความพยายามตัดทอนข้อความที่เป็นสาระสำคัญ 2-3 รอบในภายหลัง โดยไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน ส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ เสียขวัญกำลังใจเป็นอย่างมาก

“จึงขอเชิญชวน พี่น้องทุกวิชาชีพ ทุกสายงาน ที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างทุกประเภท ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสาธารณสุขทุกหน่วยงานในจังหวัดชายแดนใต้         (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวมถึง 4 อำเภอสงขลา ได้แก่ เทพา จะนะ สะบ้าย้อย นาทวี) ที่ได้รับการเลือกปฏิบัติ และไม่เคยได้รับค่าตอบแทน ฉบับ 10 เลย ร่วมยกระดับเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อกระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าจะได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ต่อไป” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ

2