ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ว่าที่ตั้งของ อ.นายูง จะอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จ.อุดรธานี เป็นระยะทางกว่า 128 กิโลเมตร และต้องใช้ระยะเดินทางไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง บนเส้นทางที่สลับซับซ้อนโค้งซ้าย-ขวาไปตามแนวเทือกเขา สองข้างทางขนาบด้วยทุ่งนา ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด เป็นพื้นที่ชนบทห่างไกลออกมาจากความเจริญของเทคโนโลยี แต่กระนั้น ความเท่าเทียมทางด้านสุขภาพ ก็ยังเดินทางมาถึง

โครงการเด็กไทยสายตาดี เป็นอีกหนึ่งในสิทธิประโยชน์จาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มอบให้กับเด็กปฐมวัยอายุ 3-12 ปี ที่มีความผิดปกติทางสายตา โดยจะมอบแว่นตาให้กับเด็กที่จำเป็นต้องใช้ เพราะด้วยว่าวัยขนาดนี้ คือช่วงสำคัญของชีวิตที่จะได้เรียนรู้ ได้มองเห็นสิ่งใหม่ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากสายตาของตัวเองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

แว่นสายตา จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของโลกใบใหม่ ที่มอบแสงสว่างไสวให้กับเด็กในพื้นที่ห่างไกล ตามสิทธิของการส่งเสริม ดูแล ป้องกันสุขภาพอันพึงมีของพวกเขา

แน่นอน สำหรับพื้นที่ อ.นายูง ที่อยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอเมืองอุดรฯ คงเป็นเรื่องยากหากจะให้พ่อแม่ ครู พานักเรียน เด็กปฐมวัยเข้าไปตรวจสายตาเมื่อพบว่าผิดปกติ ปฏิบัติการเชิงรุกของโรงพยาบาลอุดรธานีจึงเกิดขึ้น

จักษุแพทย์ของโรงพยาบาลลงพื้นที่คัดกรองเด็กผิดปกติทางสายตา ควบรวมไปกับการให้คำแนะนำการคัดกรอง สังเกตเด็กนักเรียนที่มีปัญหาทางสายตากับครูประจำชั้นเพื่อให้เข้าสู่กระบวนการรักษา บวกกับสปสช.มีสิทธิประโยชน์บริการแว่นสายตาให้กับเด็กปฐมวัยที่ผิดปกติทางสายตา เมื่อผลทุกอย่างลงล็อก โครงการเด็กไทยสายตาดีในพื้นที่อ.นายูง จึงเกิดผลรูปธรรมที่จับต้องได้อย่างชัดเจน

2

นพ.ภาณุวัฒน์ ศศิประภา หัวหน้ากลุ่มจักษุวิทยา โรงพยาบาลอุดรธานี เล่าให้ ‘The Coverage’ ฟังว่า ในอดีตเด็กปฐมวัยที่มีความผิดปกติทางสายตา เมื่อคัดกรองแล้วจะต้องส่งไปรับการตรวจอย่างชัดเจน และรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งมีจักษุแพทย์คอยทำหน้าที่เท่านั้น อีกทั้ง เด็กที่ผิดปกติก็มีแค่บางส่วนที่สามารถเดินทางมาพบจักษุแพทย์ได้ แต่เด็กอีกหลายคนที่มีฐานะทางบ้านยากจน หรืออยู่พื้นที่ห่างไกล การเดินทางเข้าตัวจังหวัดเพื่อพบจักษุแพทย์จึงเป็นเรื่องยาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สปสช.มีโครงการเด็กไทยสายตาดี ที่ปรับหลักเกณฑ์ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง สามารถจัดหาทีมเพื่อทำงานเชิงรุก ในการส่งจักษุแพทย์เข้าไปพื้นที่เพื่อให้บริการกับเด็ก หรือประชาชนได้ จึงส่งผลให้เกิดการเข้าถึงบริการที่รวดเร็ว โดยเฉพาะความผิดปกติทางสายตาที่เด็กจะได้รับแว่นสายตา หรือได้รับการรักษาตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองได้

2

ค่าปกติของการมองเห็นสำหรับเด็ก ควรมองเห็นชัดเจนในระยะ 20 ฟุต ขณะที่ผู้ใหญ่ควรเห็นชัดเจนในระยะ 50 ฟุต แต่จากการลงพื้นที่ .นายูง .อุดรธานี เราตรวจเด็กปฐมวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย 2,159 คน พบว่ามีเด็กปฐมวัยที่ต้องได้รับแว่นสายตา 155 คน ขณะที่มีอีก 169 คนที่ต้องได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์ นพ.ภาณุวัฒน์ กล่าว

สอดรับกับ นพ.พิชชา พนาวัฒนวงศ์ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลอุดรธานี ที่เป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงหลักสำหรับการนำบริการตรวจวัดสายตาไปสู่เด็กปฐมวัยในพื้นที่ห่างไกล ด้วยบูรณาการทำงานร่วมกันกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมไปถึงหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เด็กปฐมวัยที่สายตาผิดปกติ ได้มองเห็นอย่างชัดเจนอีกครั้ง บอกเล่าถึงปัญหาในพื้นที่ ทำให้เห็นความแตกต่างของสายตา ระหว่างเด็กในเมือง กับเด็กพื้นที่ชนบท

นพ.พิชชา บอกว่า ความผิดปกติในสายตาของเด็กจะเจอทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น ยาว หรือเอียง เรียกว่ามาครบถ้วน แต่สำหรับเด็กต่างอำเภอ หรือชนบทห่างไกล จะพบว่ามีปัญหาสายตายาวมากกว่าเด็กในเมือง ซึ่งอาจเกิดเพราะการใช้สมาร์ทโฟน หรือแท็บเลตของเด็กในเมืองที่มากเกินไป แต่กระนั้น สาเหตุที่เด็กอำเภอห่างไกลมีสายตายาว หรือสายตาสั้น ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่ก็มีบางส่วนที่เป็นสายตาสั้นแท้ และสายตาสั้นเทียม ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการรักษา

4

สายตาสั้นแท้ และสั้นเทียม เราจะเห็นได้บ่อยขึ้นในเด็กปฐมวัย โดยเด็กอาจจะสายตาสั้นแต่กำเนิด หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เมื่อเจอสิ่งเร้าอื่นๆ มากขึ้น เช่น การใช้สมาร์ทโฟน มือถือ หรือแท็บเลตที่นานเกินไป แสงจากจอจะส่งผลให้เกิดสายตาสั้นเทียมขึ้นมาด้วย ซึ่งอาการดังกล่าวต้องได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์ เพื่อให้ค่าสายตาสั้นเทียมกลับสู่ภาวะปกติ ก่อนที่จะใส่แว่นสายตาสั้น เพื่อดูแลสายตาที่ผิดปกติเพราะอาการสายตาสั้นแท้ได้อย่างถูกต้อง นพ.พิชชา กล่าว

ความสำเร็จของการนำสิทธิประโยชน์จาก สปสช. ไปแปรให้เป็นรูปธรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ ภาพสวยงามที่เกิดขั้น เมื่อบรรดาเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลได้รับแว่นสายตา เพราะพลันที่กระพริบตาผ่านแว่นเพื่อมองดูดอีกครั้ง โลกของพวกเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

3

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. บอกว่า นี่คือการให้โลกใบใหม่กับเด็กปฐมวัย เพราะไม่ใช่แค่เพียงการมอบแว่นสายตาให้เด็กเพียงอย่างเดียว แต่เด็กจะมองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ภาพที่มีความหมายหลากหลายถ้อยคำที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเรียน ต่อการใช้ชีวิตของเด็กๆ เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม สปสช.มีชุดสิทธิประโยชน์ออกมา แต่จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยหากไม่มีหน่วยงาน หรือในพื้นที่เข้าไปดำเนินการให้เกิดผลรูปธรรม อย่างเช่นโครงการเด็กไทยสายตาดี ที่สปสช.มีกรอบวงเงินงบประมาณที่จัดเตรียนมตัดแว่นนสายตาให้เด็กที่ผิดปกติรายละ 600 บาท ซี่งรวมเลนส์ กรอบแว่นที่มีความยืดหยุ่นและมีคุณภาพดี และราคานี้สามารถจัดหาแว่นตาที่มีคุณภาพให้กับเด็กได้

ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นก็ยังสามารถมาเข้าร่วมได้เช่นกัน ทั้งการจัดหาแว่นตาให้กับเด็กที่ผิดปกติตามกรอบวงเงินที่กำหนดไว้ หรือจัดหารถให้กับเด็กในพื้นที่ที่ต้องได้รับการตรวจรักษากับจักษุแพทย์ เพื่อร่วมกันชดเชยโอกาสที่เด็กๆ ได้เสียไปจากการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน ทพ.อรรถพร กล่าวตอนท้าย

2