ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) จ.ศรีสะเกษ เผยเคล็ดลับขยายเครือข่ายและเพิ่มการเข้าถึงสิทธิในระบบบัตรทอง ใช้วิธีจัดอบรมจูงใจให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการเข้าถึงและคุ้มครองสิทธิ เฟ้นหาแกนนำในระดับตำบลเป็นทีมประสานงานรับเรื่องร้องเรียนและเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ กปท. 


น.ส.สุพรรณ ภิเดช ประธานหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) ที่มีความโดดเด่นด้านการขยายเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) โดยสามารถจัดตั้งแกนนำหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) ในระดับอำเภอได้ 19 จาก 22 อำเภอ และแกนนำในระดับตำบลอีกประมาณ 100 ตำบล จาก 200 ตำบลใน จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานว่า เดิมทีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) ของ จ.ศรีสะเกษ ขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ HIV มาก่อน ต่อมาพบปัญหาเรื่องผู้ติดเชื้อถูกละเมิดสิทธิ จึงมีแนวคิดว่าควรมีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

1

น.ส.สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) แล้ว พบปัญหาว่าประชาชนในพื้นที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น ไปรักษาแล้วถูกเรียกเก็บเงิน ไม่ได้รับความสะดวก โดนดุโดนด่า ฯลฯ จึงวางแผนขยายงานด้านการให้ความรู้ การคุ้มครองสิทธิ การรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยใช้ต้นทุนเดิมที่มีคือมีแกนนำเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV ใน 16 อำเภออยู่แล้ว จึงขยายขอบเขตเพิ่มเรื่องการคุ้มครองสิทธิ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานในระดับอำเภอเพื่อคอยรับเรื่องส่งให้หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเครือข่ายในระดับอำเภอยังเข้าถึงประชาชนไม่ได้มาก จึงของบประมาณจาก สปสช. เพื่อลงไปขยายงานเฟ้นหาแกนนำในระดับตำบล โดยใช้วิธีให้แกนนำระดับอำเภอประสานงานกับผู้นำชุมชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ เพื่อจัดอบรมการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ในการอบรมจะยกกรณีตัวอย่างปัญหาที่เกิดและแนวทางการคุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ ให้เห็นภาพ และถ้าชุมชนไหนเห็นความสำคัญของการมีศูนย์ประสานงานในระดับตำบลเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถร้องทุกข์และเพิ่มการเข้าถึงสิทธิได้ ก็ให้ชุมชนคัดเลือกตัวแทนมา 1 คน เพื่อเป็นแกนนำหลักของศูนย์ประสานงานในระดับตำบล แกนนำคนนี้จะต้องผ่านการอบรมเรื่องระเบียบกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) และสุดท้ายแล้วก็จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ กปท. ของตำบลนั้นๆ 

3

“เมื่อเข้าเป็นกรรมการ กปท.แล้ว บทบาทของแกนนำคือ 1.ดำเนินการรวมกลุ่มและจัดตั้งศูนย์ประสานงานในตำบล 2.รับเรื่องร้องเรียนในตำบลแล้วส่งต่อให้หน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) 3.จัดทำโครงการเสนอของบ กปท. เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรค เพิ่มการเข้าถึงและคุ้มครองสิทธิ ขึ้นอยู่กับบริบทและปัญหาในพื้นที่ว่าเป็นเรื่องใด ซึ่งตอนนี้เราสามารถเฟ้นหาแกนนำและจัดตั้งศูนย์ประสานงานในระดับตำบลได้ประมาณเกือบ 100 ตำบล จากทั้งหมด 200 ตำบลใน จ.ศรีสะเกษ”น.ส.สุพรรณ กล่าว

น.ส.สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่การขยายเครือข่ายยังไม่ครอบคลุมทุกตำบลนั้น น.ส.สุพรรณ กล่าวว่า ประการแรกคือข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณซึ่ง สปสช. สนับสนุนมาน้อยจึงค่อยๆ ขยายเครือข่ายไปทีละอำเภอ และ ประการต่อมาเพราะแนวคิดในการขยายเครือข่ายจะไม่เน้นปริมาณ ไม่หว่านไปทั่วให้ครบ แต่เน้นคุณภาพ เพราะคนที่จะเข้าไปเป็นกรรมการ กปท. เพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและคุ้มครองสิทธิ จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ ผ่านการอบรม และผ่านการรับรองจาก สปสช. ให้เป็นตัวแทนหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5)

2

น.ส.สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการดำเนินงานลักษณะนี้ทำให้ในภาพรวมแล้ว การเข้าถึงสิทธิของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น โดยดูจากการมีเรื่องร้องเรียนแล้วได้รับการแก้ไขและเรื่องที่มีการร้องเรียนซ้ำๆ ได้รับการแก้ไขในเชิงระบบ ประการต่อมาคือ มีการเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลมากขึ้น จากเดิมที่เงินกองทุนค้างท่อจำนวนมาก เมื่อมีคณะกรรมการในระดับตำบลในการดำเนินงานเรื่องการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ ทำให้มีการใช้งบประมาณตรงนี้ได้มากขึ้น

น.ส.สุพรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้น ตนสรุปว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่และเครือข่ายหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) ได้รับการอบรมจาก สปสช. ทำให้มีทักษะในการรับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งมีกลไกระดับเขตช่วยหนุนเสริม เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในพื้นที่ที่รับรู้ตัวตนและบทบาทหน้าที่ของหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) ว่าทำอะไร ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ก็เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ทำให้สามารถผลักดันเรื่องการขยายเครือข่ายและเพิ่มการคุ้มครองสิทธิ การเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น

“ที่ภูมิใจกว่านั้นคือเราได้รับการยอมรับจากประชาชน ยกตัวอย่างเช่นตำบลที่ดิฉันอาศัยอยู่ เมื่อเขาทราบว่าเราทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิ ช่วยให้เขาได้สิทธิประโยชน์อย่างที่ควรได้ ทำให้เขามองว่าเราช่วยเขาได้และยอมรับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนสิทธิบัตรทอง 50(5) เวลามีงานก็จะบริการเงินและอุปกรณ์ให้หน่วยของเรา นี่คือความภาคภูมิใจที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและเห็นผลงานของเรา”น.ส.สุพรรณ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 
1.สายด่วน สปสช. 1330
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ