ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รูดม่านปิดงาน “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15” อย่างชื่นมื่น ‘ดร.เอนก’ ร่วมปาฐกถาตอกย้ำแนวคิดไทยส่งออกนวัตกรรมสู่โลก ด้าน “เจิมศักดิ์” สะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงวัย เสนอระบบการออมใหม่แฝงในภาษี VAT ขณะที่ประธาน คจ.สช. แง้ม 7 ประเด็นใหม่เตรียมพัฒนาสู่ระเบียบวาระสมัชชาฯ ครั้งที่ 16


เมื่อวันที่ 21-22 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 ภายใต้ประเด็นหลัก “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยวันสุดท้ายของงานยังมีผู้เข้าร่วมอย่างคึกคัก และภายในงานมีการปาฐกถาโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในหัวข้อ “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและสังคม: โอกาสและความหวังอนาคตของประเทศไทย”

1

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ความคิดใหม่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือดีกว่าความคิดเก่าเสมอไป เพราะในหลายครั้งความคิดเก่าๆ ก็ถูกนำกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแพทย์แผนดั้งเดิม ที่ปัจจุบันถูกนำมาวิพากษ์การแพทย์สมัยใหม่ หรือการนวดแผนไทยที่มีมาแต่โบราณ ทุกวันนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นการนวดที่ดีที่สุดในโลก คล้ายกับการเล่นโยคะของอินเดีย ที่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งสมัยใหม่ในโลกตะวันตก

“การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกล้วนเป็นการคลุกเคล้าสิ่งเก่าเข้ากับสิ่งใหม่ บางชุดความรู้โบราณนั้นดีกว่าจริง แต่เราก็ไม่ได้จะทิ้งความเลอเลิศที่เป็นปัจจุบัน เพียงแต่ไปรับเอาความคิดดั้งเดิมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งคนในแต่ละยุคมักคิดว่าตัวเองเป็นคนแห่งยุคสมัยทั้งนั้น แต่อนาคตคนในยุคนี้ก็จะกลายเป็นมนุษย์โบราณ ฉะนั้นการคิดนวัตกรรมจะต้องคิดให้ผ่านยุคสมัยด้วย และอย่าไปคิดว่าของเก่านั้นไม่ดี เพราะนวัตกรรมจำนวนมากก็ได้มาจากการศึกษาของเก่า แล้วเอากลับมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

2

2

รมว.อว. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยเองก็มีศักยภาพในการดำเนินนวัตกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ภายใน 6 ปีข้างหน้านี้เตรียมจะสร้างยานอวกาศที่สามารถโคจรรอบดวงจันทร์ การใช้เครื่องมือโทคาแมค (Tokamak) เพื่อศึกษาปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น การมีเครื่องฉายแสงซินโครตรอนเป็นประเทศเดียวในภูมิภาค เป็นต้น หรือแม้แต่เรื่องของแนวความคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่ไทยเป็นผู้ผลักดันจนได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งก็เป็นนวัตกรรมในแง่ของการสร้างแนวความคิดการพัฒนา

“แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อย่างประเทศภูฏาน ก็เป็นผู้ที่ริเริ่มแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวม หรือ GNH ขึ้นและเป็นที่สนใจไปในทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเองก็ไม่ควรนำเข้านวัตกรรมหรือรับเอาแนวความคิดสากลเข้ามาอย่างเดียว แต่เราเองก็ต้องเป็นฝ่ายส่งออกนวัตกรรม องค์ความรู้ของเราด้วย หนึ่งในนั้นคือ BCG เป็นแนวคิดที่เราส่งออกไปแล้ว และยังมีความรู้หรือแนวคิดอื่นๆ ที่เราส่งให้กับโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือกระบวนการสมัชชาสุขภาพ เองก็ตาม” รมว.อว. กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ปาฐกถาหัวข้อ “สู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์: โอกาสและทางออกของประเทศไทย” ระบุตอนหนึ่งว่า จากรายงาน Global Wealth Report ได้ยกให้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยเหตุผลของความเหลื่อมล้ำที่สูงเช่นนี้ มาจากการถือครองทรัพย์สิน 67% ที่กระจุกอยู่กับประชากรร่ำรวยเพียง 1% ยังไม่นับรวมถึงความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา หรือระบบสุขภาพ ที่เรามีจำนวนแพทย์ต่อหัวประชากรในแต่ละพื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ก็จะดูแต่เฉพาะมิติทางสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูในทุกมิติเพราะทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกันทั้งหมด เป็นความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง ที่อาจสรุปได้ใน 3 ลักษณะ คือ 1. ความเหลื่อมล้ำในโอกาส 2. ความเหลื่อมล้ำในอำนาจ 3. ความเหลื่อมล้ำในสิทธิ และสิ่งเหล่านี้จะน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น เมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่หนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นต่อไปที่จะต้องแบกรับภาระจากปัญหาของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง

3

“หลักการหรือแนวคิดที่สำคัญที่สุด คือเราจะต้องทำให้คนแก่ช้าลงที่สุด แม้ว่าการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะเป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้น แต่สิ่งที่เราทำได้คือการวางระบบเพื่อยืดเวลานี้ออกไปให้นานที่สุด เพราะคำว่าแก่หลังจากนี้จะไม่ได้ดูที่ตัวเลขอีกต่อไป แต่ต้องตีความใหม่ ว่าแก่นั้นหมายถึงภาวะที่เราเริ่มพึ่งพาตนเองไม่ได้ ฉะนั้นตราบใดที่เรายังทำงาน ยังพึ่งพาตัวเองได้ เราก็จะยังไม่แก่ ฉะนั้นเราจึงต้องมาวางมาตรการ ออกแบบระบบเพื่อรองรับเรื่องนี้” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการออกแบบอาจคำนึงถึงใน 4 มิติ คือ 1. เศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตเราไม่อาจเกษียณด้วยอายุ 60 ปีได้อีกต่อไป แต่ยังต้องทำงานต่อตราบเท่าที่ยังมีกำลัง รวมถึงระบบที่สนับสนุนและเอื้อให้เกิดการออม โดยอาจมีข้อเสนอ เช่น เก็บค่าธรรมเนียมการออมเพิ่มอีก 3% จาก VAT 7% เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการออมได้ 2. สภาพแวดล้อม เช่น การออกแบบอาคารสถานที่ที่เหมาะสมกับคนทุกวัย 3. สุขภาพ ทำให้คนแข็งแรงนานที่สุดก่อนที่จะป่วยและเสียชีวิต รู้จักการส่งเสริมสุขภาพ พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ การป้องกันโรค 4. ชุมชน ท้องถิ่น สังคม ที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพราะเป็นส่วนของการรองรับผู้สูงอายุอีกจำนวนมากในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ยังได้มีการประกาศประเด็นพัฒนาเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2556 ประกอบด้วย 1. การป้องกันและลดความรุนแรงในสังคมไทย สะท้อนจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ จ.หนองบัวลำภู 2. การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพภายใต้แนวคิด BCG Model 3. การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 4. ระบบยุติธรรมชุมชน ลดความขัดแย้ง เพิ่มสุขภาวะสังคม 5. การกระจายอำนาจสู่พื้นที่อย่างมีส่วนร่วม 6. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7. การพัฒนาระบบสุขภาพจิต

2

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15-16 พ.ศ.2565-2566 กล่าวว่า ทั้ง 7 หัวข้อดังกล่าว เป็นประเด็นที่ได้มีการหยิบยกและถูกสะท้อนออกมาผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ในครั้งนี้ ขณะเดียวกัน คจ.สช. ก็ยังยินดีที่จะเปิดรับประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมจากภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกันต่อไปในระยะหลังจากนี้ ผ่านเส้นทางของกระบวนการสมัชชาสุขภาพทุกระดับ ไม่ว่าจะในระดับชาติ ระดับพื้นที่ หรือในรายประเด็น

“ในส่วนของมติสมัชชาฯ ทั้ง 3 ระเบียบวาระที่มีการเคาะรับรองในครั้งนี้ ก็จะไม่ใช่การเคาะแล้วจบไป แต่จะเป็นการเคาะเพื่อเริ่มต้นกระบวนการ โดยเฉพาะในเรื่องของหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ที่จะต้องร่วมกันพัฒนาแนวทางต่อไปในระยะหลังจากนี้ ควบคู่ไปกับ 7 ประเด็นใหม่ที่ถูกสะท้อนขึ้นมา” นายชาญเชาวน์ กล่าว