ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

U=U (Undetectable = Untransmittable) หรือ ไม่พบไวรัลโหลด = ไม่สามารถส่งต่อเชื้อเอชไอวี (HIV) ให้ใครได้

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่ได้รับยาจนตรวจไม่พบเชื้อ ก็จะไม่ส่งต่อเชื้อให้ใคร

แม้ U = U จะเป็นแคมเปญในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ เพื่อลดการตีตรา รวมถึงการเลือกปฏิบัติ อันมีสาเหตุมาจากเอชไอวี จะถูกพูดถึงมาตั้งแต่ ปี 2562 แล้ว

แต่ในปัจจุบันก็ยังคงพบปัญหาดังกล่าวอยู่ อีกทั้งยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้มีเชื้อเอชไอวีทั้งในแง่การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ หรือแม้แต่การกีดกันในมิติทางสังคมก็ตาม

ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 เนื่องในวันเอดส์โลก มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) จึงได้จัดงานประกาศเจตนารมณ์เรื่อง U=U: ระบบสุขภาพต้องเท่าเทียมกัน ผู้ติดเชื้อต้องเท่าเทียมทุกคน รวมถึงภายในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “กว่าจะถึง U ที่ 1 ต้องทำให้ระบบสุขภาพเท่าเทียมกันอย่างไร ซึ่งได้พูดถึงปัญหาในการเข้าถึงบริการการตรวจ และรับการรักษาด้านเอชไอวี ตลอดจนทางออกเพื่อนำไปสู่การสร้างระบบสุขภาพอย่างเท่าเทียม

1

ติดเชื้อเอชไอวี = ใช้ชีวิตปกติ

อารี คุ้มพิทักษ์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย บอกว่า การจะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการได้อย่างแรก จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้ทุกคนในสังคมก่อนว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไปได้ รวมไปถึงผู้ที่ไม่ติดเชื้อก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้ ซึ่งสองส่วนนี้เป็นข้อมูล และความเชื่อสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีอยากรู้สถานะเชื้อของตนเอง และนำไปสู่เข้ารับกระบวนการรักษา

อารี บอกต่อไปว่า หลังจากนั้นการจะขยับต่อไปสู่รูปธรรมได้ ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1. การจัดบริการเชิงรุก เนื่องจากมีกลุ่มประชากรจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มผู้พิการทางสายตา กลุ่มเด็กและเยาวชน ฯลฯ ซึ่งกลุ่มคนที่มีบริบทความเฉพาะซ้อนในวิถีชีวิตเหล่านี้ต้องการบริการที่เอื้อต่อการรักษาเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าที่ผ่านมาภาคประชาสังคมสามารถช่วยอุดช่องว่างดังกล่าวได้ค่อนข้างดี แต่ยังสามารถต่อยอดไปได้อีก ฉะนั้นทางภาครัฐต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาตประสังคม เพื่อนำไปสู่การทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงการตรวจ และรับการรักษาได้ทันท่วงที เพื่อให้ไทยสามารถบรรลุยูแรก (Undetectable) ให้ได้ตามเจตนารมณ์

2. การจัดบริการเชิงรับที่สถานพยาบาล โดยทุกจุดที่ให้บริการการตรวจรักษาเชื้อเอชไอวี ต้องยึดถือ เข้าใจ และตระหนัก ตลอดจนส่งเสริมคุณค่าของแนวคิดยูเท่ากับยู (ตรวจเร็วรักษาเร็ว) รวมถึงต้องพยายามสื่อสารให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงได้

หนุน ปฐมภูมิ ตรวจ-จ่ายยารักษาเอชไอวี

พญ.สายรัตน์ นกน้อย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาการดูแลรักษาเอชไอวี กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า มิติทางสังคมมีผลต่อชีวิตคนทุกคนในสังคม ทั้งตัวผู้ติดเชื้อเอชไอวี และหน่วยงาน หรือบุคลการ ซึ่งทาง สธ. กำลังพยายามอย่างมากในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคมทุกกลุ่ม ทว่า สธ. ไม่สามารถทำงานดังกล่าวได้เพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเปลี่ยนความปกติใหม่ทางความคิดในเรื่องนี้

2

อีกทั้งฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาความรู้ให้เท่าทันต่อวิทยาศาสตร์การดูแลรักษาที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการสื่อสารกับผู้รับบริการ

พญ.สายรัตน์ กล่าวต่อไปว่า แม้ไทยจะมีหน่วยบริการภาครัฐกระจายตามจุดต่างๆ จำนวนมาก แต่หลายพื้นที่ประชาชนยังคงเข้าไม่ถึง ดังนั้นการจะเพิ่มการเข้าถึงบริการสำหรับผู้ป่วยเอชไอวีต่อจากนี้ ต้องทำให้คลินิกระดับปฐมภูมิสามารถให้บริการได้ด้านการตรวจ และให้ยารักษาเอชไอวีได้ รวมถึงต้องเชื่อมต่อกับองค์กรระดับชุมชนตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ที่มีความยากลำบากเข้าถึงบริการได้ เช่น แรงงานต่างด้าว กลุ่มที่พึ่งพ้นโทษจากเรือนจำ

“ผู้ต้องขังทุกวันนี้เราจัดบริการที่ทำให้เขาได้รับการรักษาเป็นอย่างดี แต่ปัญหาก็คือว่าเมื่อออกจากเรือนจำแล้ว กลายเป็นว่าไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ เพราะระบบบริการยังเป็นอุปสรรคอยู่ ทำให้เขาไม่มีความกล้าในการไปรับบริการตามสิทธิการรักษา รวมถึงอาจถูกหน่วยบริการลำดับความสำคัญรองลงมาจากคนกลุ่มอื่น สิ่งที่ คร. กำลังทำอยู่ คือ การร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ในการทำให้ผู้ที่ได้รับการรักษาเบื้องต้นในเรือนจำ เมื่อออกจากเรือนจำแล้วยังคงได้รับการรักษาอยู่จนกว่าจะเข้าสู่ระบบบริการได้ พญ.สายรัตน์ ระบุ

รักษาง่ายแต่ปัญหาคือคนไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ

พญ.สุพรรณี จิรจริยาเวช แพทยผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาอายุรกรรม กลุ่มงานเวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลตากสิน กล่าวว่า แม้ปัจจุบันการตรวจเอชไอวีค่อนข้างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรักษาในขณะนี้ก็สามารถทำได้ด้วยการทานยาเพียงเม็ดเดียว อีกทั้งยังมีให้บริการฟรีในทุกหน่วยบริการตามสิทธิการรักษา

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลอยู่ที่การไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้ากว่าที่ควร โดยจากข้อมูลของโรงพยาบาลตากสิน พบว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่มาตรวจ และพบว่าตัวเองมีเชื้อเอชไอวี ล้วนเป็นมานานกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เขาเหล่านั้นตัดสินใจมาเข้ารับการตรวจจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. อาการป่วยที่เด่นชัดขึ้น ซึ่งเกิดจากผลกระทบเชื้อเอชไอวี 2. จากการทำตรวจด้วยตัวเองโดยใช้ HIV Self-Test

พญ.สุพรรณี บอกต่อไปว่า จึงอยากให้สังคมทำให้การตรวจเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ (Normalization) โดยทุกคนสามารถไปตรวจได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ตนเองมีอาการ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เป็นอาทิ เพราะโรคเอชไอวีก็เหมือนโรคเรื้อรังอื่นๆ คือถ้าสามารถตรวจพบได้เร็ว และได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้

2