ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชี้ ไทยเปิดโอกาสให้มี ‘รพ.เอกชน’ มากเกินไป ทำทรัพยากรบุคคล-สิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐถูกดึงไปเอื้อคนมีฐานะ ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ


น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่ระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ยังมีความเหลื่อมล้ำมาจนถึงปัจจุบันกว่า 20 ปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งดำเนินเป็นธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไร มีจำนวนมากเกินไป ส่งผลให้การใช้ทรัพยากรด้านบุคลากรหรือสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) บางอย่างจากรัฐไปเอื้อในการให้บริการกับคนมีฐานะทางการเงินที่ดีมากกว่าประชาชนทั่วไปในระบบ

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า การบริหารสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมนั้น ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยังใช้วิธีการทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนที่ค่อนข้างครอบคลุม ตรงนี้ยิ่งทำให้โรงพยาบาลเอกชนเติบโตมากขึ้นยิ่งขึ้นในด้านผลกำไร ซึ่งนำไปสู่การลงทุนพัฒนาสถานที่ และสร้างความแตกต่างเรื่องความสะดวกสบายที่ชัดเจนเมื่อเทียบโรงพยาบาลรัฐ

“ถ้าโรงพยาบาลเอกชนยังเติบโต และเราไม่สามารถควบคุมได้ ยังไงเขาก็ดึงทรัพยากร และบุคลากรของรัฐไปใช้งานที่เอกชนอยู่ดี เพราะฉะนั้นมันก็ควรให้ประชาชนที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีคุณภาพชีวิตที่มีมาตรฐานและสามารถวอล์คอินเข้าไปได้มากกว่าต้องเดินทางไกล” น.ส.สุรีรัตน์ ระบุ

นอกจากนี้ ด้วยลักษณะกลุ่มประชากรของผู้ประกันตนคือคนที่อยู่ในวัยทำงาน หรือช่วงอายุระหว่าง 22-55 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน มีร่างกายแข็งแรง ซึ่งอาจมีความเจ็บป่วยน้อยกว่าช่วงวัยอื่นๆ ขณะที่ช่วงวัยที่มีอัตราการป่วยที่เยอะและรุนแรงเรื้อรังมากกว่า คือ วัยเด็ก หรือผู้สูงอายุ จะอยู่ในระบบบัตรทอง ดังนั้นด้วยปริมาณคนในระบบบัตรทองที่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องรับภาระมากกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพียงแห่งเดียว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สปสช. มีการพัฒนาทั้งบริการการรักษา และชุดสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ความครอบคลุมและคุณภาพมีมากกว่าระบบประกันสังคมหลายรายการ จนกลายเป็นอีกหนึ่งความเหลื่อมล้ำที่ซ้อนทับเข้าไป

นอกจากนี้ ชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาต่างๆ ในระบบประกันสังคมมีพัฒนาการค่อนข้างช้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากหลักแนวคิดที่ว่าผู้ประกันตนต้องดูแลตัวเอง ตัวอย่างเช่น บริการทันตกรรม ที่มีอัตราเหมาจ่ายอยู่ที่ปีละ 900 บาท ซึ่งในจำนวนนี้เทียบเท่ากับราคาการอุดฟันเพียงซี่เดียวในบางคลินิก บริการอื่นๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องการรักษาพยาบาล แต่ระบบประกันสังคมจำเป็นต้องมีอยู่ เนื่องจากสวัสดิการอื่นๆ อีก 6 ด้าน เช่น เงินบำนาญ ชดเชยรายได้ว่างงาน ฯลฯ ยังความสำคัญกับผู้ประกันตนอย่างมาก

ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งโดยหลักการไม่ได้มองว่าบริการที่จัดให้เป็นสวัสดิการที่รัฐพึงมีให้แก่ลูกจ้างของรัฐราว 5-6 ล้านคน และยังมีการจัดสรรงบที่มากกว่ากองทุนอื่นๆ หลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ อย่างระบบบัตรทองอยู่ที่ 47 ล้านคน และระบบประกันสังคม 12-13 ล้านคน ทำให้การพัฒนาบริการ หรือสิทธิประโยชน์อาจไม่ได้อยู่ในสมการของการให้บริการในระบบสวัสดิการข้าราชการ

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลในการแก้ไขปัญหาคือแต่ละกองทุนไม่ได้มองภาพใหญ่ร่วมกันถึงความเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่จะต้องดูแลประชาชน โดยเลือกที่จะบริหารไปตามหลักเกณฑ์ และงบประมาณในกองทุนที่ตนเองได้มาเพียงลำพัง

“ถ้าบอร์ด สปส. กับ บอร์ดของ สปสช. จับมือกัน แล้วก็บอกว่าเราจะยกระดับการดูแลรักษาพยาบาลของประชาชนของเรา เพื่อให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพที่ไปด้วยกันให้ดีที่สุด มันก็คงจะมีทางออกหลายอย่างมากขึ้น เราจะได้ออกแบบสิทธิประโยชน์ไปด้วยกัน และนำไปสู่การการเจรจากับโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดบริการที่มาตรฐานเดียวกัน” ..สุรีรัตน์ กล่าว