ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายเด็กและสตรี  ร้องพม. แก้ปัญหาความรุนแรงในเด็ก สตรี หลังพบข้อมูลความรุนแรงหนักขึ้น ชง 4 ข้อ รับมือ ล่าสุดเกิดเหตุกับเด็กในสถานสงเคราะห์ดังสมุทรสงครามก่อนถูกสั่งปิด-ดำเนินคดี สะท้อนความหละหลวมในระบบกำกับดูแล  หนุนจัดตั้ง “ผู้ตรวจการเด็กแห่งชาติ” รื้อระบบกำกับตรวจสอบใหม่


มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมระหว่างเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา และแกนนำชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 30 คน นำโดย น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เข้าพบนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก พร้อมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้สังคมใส่ใจ ไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงในเด็ก สตรีและครอบครัว  

  นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลจากข่าวความรุนแรงในครอบครัวและคู่รัก ทางหนังสือพิมพ์ ของมูลนิธิหยิงชายก้าวไกล พบจำนวนสถิติที่น่าเป้นห่วงโดยในปี 2559 พบ 466 ข่าว ในปี 2561 พบ 623 ข่าว และในปี 2563 พบ 323 ข่าว ซึ่งกว่าครึ่งเป็นเหตุฆ่ากันตาย โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นสามี หรือฝ่ายชาย มูลเหตุมาจากความหึงหวง ตามง้อขอคืนดีแต่ไม่สำเร็จ เมาเหล้า/ยาเสพติดแล้วก่อเหตุ และจับได้ว่านอกใจ ตามลำดับ ส่วนอาวุธที่ใช้ก่อเหตุส่วนใหญ่คือ ปืน มีดหรือของมีคม

1

จากข้อมูลนี้สะท้อนปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเด็ก ผู้หญิงและครอบครัวยังน่าเป็นห่วง และเหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นที่สถานสงเคราะห์เอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีการใช้แรงงานและทำร้ายร่างกายเด็กอย่างรุนแรง จนถูกสั่งปิด และมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นข่าวที่สะเทือนใจประชาชน และทำให้เกิดคำถามต่อบทบาทหน้าที่ในการติดตาม กำกับของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะพูดความจริงกัน ไม่ซุกขยะไวใต้พรม และปรับปรุงระบบกันใหม่อย่างจริงจัง

  ด้านนางสาวอังคณา กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ซึ่งปีนี้จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง ดังนั้น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับเครือข่าย จึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกระทรวงพม.ดังนี้ 1. ขอให้เร่งพัฒนาคุณภาพช่องทางและระบบรับแจ้งเหตุที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกพื้นที่ เข้าถึงง่าย เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานให้การช่วยอย่างรวดเร็ว และประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง 2. มีระบบส่งต่อการแก้ปัญหา ระบบติดตามผลทั้งรูปแบบออนไลน์ online และ real-time โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน มีอำนาจติดตามผลข้ามหน่วยงาน จัดสรรกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทุกรูปแบบ ทุกระยะ ให้มีจำนวนเพียงพอ ครอบคลุม ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้สูงอายุ มีการจัดสรรงบประมาณให้อยู่ในกรอบงบประมาณประจำ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วม และสนับสนุนทรัพยากรแก่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้บริการแก่ผู้ประสบปัญหาความรุนแรง เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. ขอเรียกร้องให้มีการตั้งกรรมการสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวง พม.ในการกำกับดูแลสถานสงเคราะห์ในจังหวัดสมุทรสงครามที่มีการทำร้ายร่างกายเด็ก เพื่อทำความจริงให้ปรากฏว่ามีการปล่อยปละละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และหากพบความผิดขอให้ลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวควรมีผู้แทนจากองค์กรภายนอกร่วมด้วย เช่น มูลนิธิเส้นด้าย หรือสถานศึกษา หน่วยงานทางวิชาการภายนอก เป็นต้น และ 4. ผลักดันให้มีผู้ตรวจการเด็กแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่การถ่ายโอนจากภาคราชการ แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ จิตวิญญาณใหม่ และนวัตกรรมใหม่ เพื่อสู่เป้าหมายใหม่ที่มีหลักประกันเรื่องสิทธิเด็กสำหรับเด็กทุกคน

1

ขณะที่ นายอนุกูล กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า พม.พร้อมรับข้อเสนอทั้ง 4 ข้อไปดำเนินการ ซึ่งบางเรื่อง พม.ได้ขับเคลื่อนไปบ้างแล้ว อย่างศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ล่าสุดได้เพิ่มประสิทธิภาพบริการให้ครอบคลุม ยอมรับว่าที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนคงค้างจำนวนมาก รวมถึงการเพิ่มและพัฒนาบุคลากรที่ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ จะต้องเพิ่มและทำให้เป็นมืออาชีพ เร่งแก้ปัญหาโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ก็เป็นโจทย์ที่จะร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาสังคมต้องทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน ไม่เฉพาะ พม. แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกัน โดยเฉพาะกลไกระดับจังหวัด ที่มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาสังคม ทั้งเรื่องความปลอดภัยของเด็ก สตรี และครอบครัว อยากส่งเสียงไปถึงระดับพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ต้องมาร่วมกันดูแลแก้ปัญหาสังคม หากปล่อยให้ พม.คิดเองทำเองร่วมกับหุ้นส่วน ภาคประชาชน คงไม่ทันปัญหามากมายที่เกิดขึ้น

ปลัด พม. กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ พม.ที่กำกับดูแลสถานสงเคราะห์ในจังหวัดสมุทรสงคราม ปล่อยให้เกิดเหตุทุบตีและใช้แรงงานเด็ก ว่า พม.ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น หากเป็นการทำงานที่เป็นจุดอ่อนในพื้นที่ก็จะไม่ละเว้น ขณะเดียวกันต้องสร้างความเข้มแข็งกลไกระดับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งให้ภาคประชาชนอย่างเช่น มูลนิธิเส้นด้าย มาชี้จุดอ่อนเพื่อร่วมแก้ปัญหา ส่วนข้อเรียกร้องให้มีผู้ตรวจการเด็กแห่งชาติ ถือเป็นเรื่องใหม่ จะนำหารือในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องชุดต่างๆ

 

3