ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แข ... แข ... แข ... แข็งแกร่ง !!!

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังจะ “ย้ายโรงพยาบาล” มาให้บริการคนกรุง “ถึงหน้าบ้าน” โดยไม่ใช้งบประมาณราชการสักบาท

ชัชชาติ บอกว่า นี่จะเป็นมิติใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขอย่างไม่น่าเชื่อ

1

เปรียบให้เห็นภาพโรงพยาบาลก็เหมือนกับยานแม่ที่ส่งยานลูกออกไปบริการคนในชุมชน แต่ที่ผ่านมายานลูกเราไม่เข้มแข็ง ดังนั้นทุกคนก็วิ่งมาหายานแม่หมด สุดท้ายทำให้โรงพยาบาลแออัด เหมือนเราปะทะที่ด่านสุดท้าย ดังนั้นต้องส่งยานลูกไปปะทะที่ชุมชน ถ้ายานลูกเข้มแข็ง สุดท้ายแล้วโรงพยาบาลก็จะสบายขึ้น

สิ่งที่ “ชัชชาติ” กำลังดำเนินการ คือการนำ “เทคโนโลยี” มารับใช้ระบบบริการและรับใช้ประชาชนอย่างเต็มรูปแบบผ่านโครงการที่ชื่อว่า “ราชพิพัฒน์ Sandbox Model” ซึ่งประกอบสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของ “ภาคเอกชน” ที่เข้ามาหนุนเสริมการทำงานของราชการ

“เมื่อใดก็ตามที่เราสร้างความไว้วางใจ สร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนได้ ก็จะมีคนเข้ามาช่วยเหลือเราจำนวนมาก เพราะทุกคนอยากเห็นเมืองที่ดีขึ้น”

2

สำหรับโครงการ “ราชพิพัฒน์ Sandbox Model” ถือเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ ระหว่าง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สังกัดสำการแพทย์ กทม. ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักงานเขตบางแค ทวีวัฒนา หนองแขม ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชน และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

การให้บริการจะใช้เทคโนโลยีร่วมกับระบบบริการขนส่งสาธารณสุข ประกอบด้วย 1. รถ Telemedicine-Ambulance รับการประสานงานจากศูนย์เอราวัณและเพิ่มช่องทางการติดต่อฉุกเฉินให้ประชาชน เพิ่มอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้แพทย์รักษาผู้ป่วยได้ถึงที่เกิดเหตุและบนรถฉุกเฉิน 2. รถ Motor lance (มอเตอร์ไซค์ฉุกเฉิน) หน่ายเคลื่อนที่เร็วเพื่อประเมินปฐมพยาบาลและกู้ชีวิตรักษาทันทีที่เกิดเหตุ เข้าถึงชุมชนได้ง่ายรวดเร็วมากขึ้นโดยเฉาพะชุนชนที่รถฉุกเฉินเข้าถึงยากและการจราจรติดขัด

3

3. รถ Commu-lance เหมือนศูนย์บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ เจ้าหน้าที่และรถสามารถเข้าไปบริการผุ้ป่วยถึงชุมชนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถเจาะเลือด ตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์และปรึกษาแพทย์ได้ด้วยระบบเทคโนโลยี และใช้ระบบส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ในอนาคต รวมทั้งใช้ระบบบริการขนส่งสาธารณสุข ประกอบด้วย รถรับส่งผู้สูงอายุและผู้พิการ และรถโดยสาร ชุมชน-โรงพยาบาล

นี่เป็นแค่เทคโนโลยี แต่ยังไม่ใช่ Sandbox ทั้งหมด

ทว่าโครงการภายใต้ “Sandbox ราชพิพัฒน์ Model” จะประกอบด้วย 3 โครงการใหญ่ ได้แก่

1. พัฒนา Excellent center เวชศาสตร์เขตเมือง ควบคู่การดูแลคนเมือง โดยพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์สาขาต่างๆ ให้ประชาชนได้รับบริการทั่วถึงและเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น Service plan โรคเบาหวาน, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคไต ฯลฯ

2. เปิดศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองราชพิพัฒน์เพื่อการฟื้นฟูและดูแลผู้ป่วยประคับประคอง เป็นแห่งแรกของ กทม. และสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน โดยเปิด “Community IMC บ้านผู้สูงวัย” หรือศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพชุมชน กทม. จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ ชุมชน เพื่อสร้างระบบดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอย่างเข้มแข็ง เปิดโครงการ Pre-school บ้านเด็กเล็ก กทม. เพิ่มขึ้น และโครงการนักสืบฝุ่นโดยติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ไว้ในชุมชนทั้ง 5 เขต ติดตามหาสาเหตุของฝุ่นเพื่อป้องกันแก้ไข เป็นต้น

4

3. เปิดศูนย์สนับสนุนเวชศาสตร์เขตเมือง หรือศูนย์สนับสนุนบริการคนเมือง สร้างบริการให้ระบบปฐมภูมิเข้มแข็งโดยใช้หลัก Hi-touch และ Hi-tech ประกอบด้วยระบบเทคโนโลยี และระบบบริการขนส่งสาธารณสุข อาทิ

- โครงการ Urban medicine support center ประชาชนสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพ 24 ชั่วโมงผ่านระบบโทรศัพท์ VDO call center โดย Scan QR code ใน Facebook โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

- โครงการ Telemedicine ประชาชนสามารถปรึกษา รักษากับแพทย์ผ่านระบบรักษาทางไกล และใช้ระบบส่งยาไปที่บ้านหรือรับยาร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.

- โครงการ Telemedicine consult ระบบปรึกษาการรักษาระหว่างพยาบาลและแพทย์ที่คลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลเหมือนทำให้คนไข้ได้รับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น และลดการส่งต่อการที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

5

- โครงการ Urban medicine home care ระบบเยี่ยมบ้านและฝากร่างกาย Online เพื่อให้แพทย์พยาบาลที่คลินิกอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ได้ติดตามอาการคนไข้หลังการรักษาร่วมกัน และถ้าผู้ป่วยพบปัญหาสามารถโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้ 24 ชั่วโมง ลดการส่งต่อการที่ผู้ป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

“หัวใจของ Sandbox คือทำ scale ให้ได้ ทำอย่างไรให้มีรถ Motor lance 300 คันทั่ว กทม. ทำอย่างไรมีรถ Commu-lance 150 คัน ลงไปบริการชุมชนในทุกเขต ทำอย่างไรให้มีศูนย์เด็กอ่อน 3 เดือน - 2ขวบเพิ่มขึ้นกระจายทุกชุมชน

“มากไปกว่านั้น เมื่อเราพิสูจน์ Sandbox นี้แล้วเราจะ scale หรือขยายผลอย่างไร ดังนั้นต้องให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมที่ขยายผลออกไป 1 เดือนขยายผลถึงไหน 2 เดือนขยายผลถึงไหน และเมื่อใดจะครบทั้งกรุงเทพมหานคร ... ภายใน 1 ปีได้หรือไม่” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว