ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต-คณะแพทยศาสตร์-คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ-สสส. ผนึกกำลังประสานความร่วมมือพัฒนาโปรแกรม “DMIND” ประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติและมีความถูกต้องแม่นยำ หลังพบผู้ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้นและมีช่วงอายุน้อยลง 


พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันในประเทศไทย พบว่ามีผู้ที่ประสบปัญหาภาวะซึมเศร้ามากขึ้นและมีช่วงอายุน้อยลง ซึ่งการสร้างความตระหนักและการพัฒนาระบบช่วยเหลือรวมถึงการให้บริการทางสุขภาพจิตจากภาวะซึมเศร้าที่เหมาะสม คืออีกทางที่จะสามารถช่วยเหลือและประคับคองกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น

อย่างไรก็ดี จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในชื่อ DMIND ที่ช่วยประเมินด้านสุขภาพจิตได้ ซึ่งจากข้อมูลของ DMIND เริ่มทดลองระบบให้บริการเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2565 พบว่าปัจจุบันมีผู้เข้าใช้ระบบ จำนวน 7,500 ราย ขอรับความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา จำนวน 110 ราย ให้การช่วยเหลือด้านจิตใจในระดับภาวะเศร้ารุนแรงถึง 82 ราย ที่ถูกส่งต่อความช่วยเหลือทันที 

1

พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้สนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในระบบ DMIND อย่างต่อเนื่อง ตามหลักการ 3 สPlus ได้แก่ 1. การสอดส่องมองหา ด้วยการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม 2. การใส่ใจรับฟัง อย่างเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ 3. การส่งต่อเชื่อมโยง เมื่อระบบค้นพบจะมีกลไกในการประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าทำการช่วยเหลือ 

ทั้งนี้ในอนาคตการขยายการใช้งานระบบ DMIND จะไม่จำกัดแต่ในระบบหมอพร้อมเท่านั้น กรมสุขภาพจิตจะสนับสนุนการใช้ประโยชน์ไปยังโรงพยาบาลจิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตทุกแห่ง เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทุกภาคส่วน

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งทางจิตเวชที่เกิดจากความเครียดของปัญหารอบด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 1.5 ล้านคนในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยถึงปีละ 4,000 ราย และเป็นสาเหตุของการพยายามฆ่าตัวตายถึงปีละ 53,000 ราย ซึ่งการป้องกันความรุนแรงของโรคและยับยั้งการฆ่าตัวตายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน    ถือเป็นสิ่งสำคัญ 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยี AI กำลังมีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น ทั้งในแง่การตรวจคัดกรอง การประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงต่อการเป็นโรค คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เล็งเห็นโอกาสจากการใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงการรักษาโรคทางจิตเวช

2

ทั้งนี้ จึงได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ พร้อมด้วยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถสัมภาษณ์อาการจากการตอบคำถามผ่านใบหน้า น้ำเสียง และข้อความ โดยใช้แนวทางการสัมภาษณ์จากแบบคัดกรองที่มีวิธีการตรวจมาตรฐาน เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติและมีความถูกต้องแม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงการคัดกรองอาการได้อย่างสะดวกในรูปแบบแอปพลิเคชั่น “DMIND” ระบบ AI เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ดำเนินการเรื่องสุขภาพจิตอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 ได้ยกระดับเป็นประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญของ สสส. ที่มุ่งเน้นการทำงานสร้างเสริมและป้องกัน ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคล และปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและสังคม 

สำหรับ สสส. ได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต สธ. และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการประเมินภาวะซึมเศร้า DMIND และโครงการสร้างเสริมสุขภาพจิตและป้องกันภาวะซึมเศร้าด้วยการพัฒนาระบบ Service dashboard โดยเชื่อมต่อกับระบบหมอพร้อม เกิดเป็นนวัตกรรมแอปฯ DMIND 

นอกจากนี้ สอดรับกับการสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการประเมินสุขภาพจิตได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว ช่วยป้องกัน ความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า และสร้างเสริมสุขภาพจิตในระยะยาว รวมถึงการได้รับบริการอย่างเหมาะสมตามระดับปัญหา ที่สำคัญคือ ประชาชนสามารถนำองค์ความรู้หรือแนวทางที่ได้รับจากการให้บริการไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของตนเองและสื่อสารช่วยเหลือคนรอบข้างได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

3