ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สิ่งที่แพทย์พร่ำบอก หรือข้อมูลด้านสุขภาพที่ปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อ ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติและกลายเป็นความเคยชินของผู้คนในปัจจุบัน และที่สุดแล้ว ถึงแม้ปัญหาสุขภาพจะเกิดขึ้น ผู้คนก็มักจะปล่อยผ่านเสมอๆ หนึ่งในนั้นคือ “โรคอ้วน” และพฤติกรรมการกินที่ทำลายสุขภาพ

ทว่า นักวิทยาศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา จะค้นพบว่า คนเราจะหันมาสนใจหรือถูกกระตุ้นให้ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เมื่อถูก “แอปพลิเคชัน” ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ แจ้งเตือนผู้ใช้ว่ากำลังจะ “เจ็บป่วย”

แม้ว่าที่ผ่านมา การใช้ข้อความ “เตือน” ถึงภัยสุขภาพมักจะปรากฏบนซองบุหรี่ แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลสำเร็จเท่าที่ควรนัก และไม่สามารถลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในทางกลับกัน ผลลัพธ์ที่ได้จากการเตือนโดย “แอปพลิเคชัน” กลับได้ผลในการให้ผู้คนตระหนักถึงสุขภาพของตน

ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจอาสาสมัคร 669 คน ถึงผลจากข้อความ 5 รูปแบบ ที่กระตุ้นให้ผู้ใช้แอปพลิเคชัน “ออกกำลังกาย” เพื่อรักษาสุขภาพ ว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด มีความเชื่อมโยงเชิงสังคมของการตั้งเป้าหมายสุขภาพ (Health goal setting) กับผลที่ได้จากเป้าหมายนั้นอย่างไร รวมถึงดูด้วยว่าเพศของผู้ใช้มีผลหรือไม่ในการตระหนักถึงคำเตือนเหล่านั้น

เมื่อผลวิจัยออกมา ก็พบว่าข้อความจากแอปพลิเคชันด้านสุขภาพได้ผลดีเป็นอย่างมากในการกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มตระหนักกับสุขภาพของตน และเริ่มออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ และเพศของผู้ใช้ไม่มีผลต่อการกระตุ้นแต่อย่างใด

คีมูเต้ โอยีโบ สมาชิกทีมวิจัยอธิบายว่า เราไม่ได้คาดหวังเพียงแค่พวกคำเตือนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจะส่งผลต่อการกระตุ้นให้ตระหนักรู้เท่านั้น แต่เรายังพบถึงความเชื่อมโยงของคำเตือนจากแอปฯ กับความเชื่อส่วนบุคคลว่าการทำตามที่แอปฯ แนะนำจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีได้จริง

ซึ่งข้อความที่ได้ผลที่สุดคือข้อความที่เตือนเกี่ยวกับ “โรคอ้วน” อันเป็นสาเหตุการตายหลักๆ ของผู้คนบนโลก อย่างเช่นเตือนว่าน้ำหนักเกิน เตือนว่าให้ออกกำลังกายเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือจำพวกที่กระตุ้นว่าการลดน้ำหนักจะทำให้รูปร่างหน้าตา “ดี” เป็นข้อความที่ได้ผลในการกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมากที่สุด และได้ผลในเชิงสังคมให้ตระหนักว่า “ทุกคน” กำลังลดน้ำหนักเพราะ “แอปฯ บอก” และผู้คนที่ทำตามแอปฯ จะได้ผลดี ผู้คนจึงเชื่อและตั้งเป้าหมายสุขภาพจากคำเตือนของแอปฯ และปฏิบัติตาม เพราะเชื่อว่าได้ผล

โอยีโบยังกล่าวอีกว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยเราได้มาก โดยเฉพาะกับเหล่านักออกแบบแอปพลิเคชัน เพราะจะทำให้เข้าใจได้ว่าข้อความแบบใดจะสามารถกระตุ้นผู้คนให้ตระหนักถึงสุขภาพของตนได้มากที่สุด และส่งผลให้พวกเขาออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ

ก้าวต่อไปของงานวิจัยชิ้นนี้คือคือการสำรวจตัวแปรอื่นๆ เช่นคุณลักษณะเฉพาะของประชากรกลุ่มต่าง ๆ อายุ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และการศึกษา เพื่อดูถึงผลของการสื่อสารสำหรับกระตุ้นให้ตระหนักถึงสุขภาพต่อไป และเปิดทางสู่การ “สร้าง” แอปพลิเคชันและข้อความที่จะส่งผลต่อการตระหนักถึงสุขภาพและดูแลตนเองของผู้คนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

อ้างอิง
https://www.sciencedaily.com/releases/2021/10/211019082710.htm
https://www.eurekalert.org/news-releases/931933
https://uwaterloo.ca/news/media/illness-and-death-related-messages-found-be-significant
https://www.mdpi.com/2078-2489/12/9/350