ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แอปพลิเคชันแจ้งเตือนว่าในอีกไม่กี่นาทีเรากำลังจะถึงจุดหมายปลายทาง นั่นก็คือ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กำลังจะมีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต “CMEx Lifelong Learning Center” ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า

สำหรับศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่เป็นจุดปักหมุดในครั้งนี้นั้น มีจุดประสงค์ก็เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่การคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย ไปจนถึงการรักษา และได้ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว

โดยมุ่งเน้นการดูแลและป้องกันเกี่ยวกับ โรคหัวใจก่อนเป็นอย่างแรก

“The Coverage” มีโอกาสได้พูดคุยอย่างใกล้ชิดกับ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ นักอนุรักษณ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว รวมไปถึงยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะทำงานศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งนี้อีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีการอบรมเรื่องการทำอัลตร้าซาวด์เกี่ยวกับหัวใจไปแล้ว 2 ครั้ง และ CPR (การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ใช้ฟื้นคืนชีพให้ผู้ที่หยุดหายใจ) ไปแล้ว 3 ครั้งนั่นคือสิ่งที่หมอนักอนุรักษ์รายนี้เล่าให้ได้รับทราบทันทีเมื่อเริ่มต้นบทสนทนา

นพ.รังสฤษฎ์ อธิบายว่า แพทย์ที่ดูแลโรคหัวใจยังเป็นความต้องการของตลาด เพราะเรื่องหัวใจยังมีสอนน้อยมาก ขณะที่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในสมัยก่อนจะมีแต่แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเท่านั้นที่จะทำได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนไป เครื่องมือที่ใช้ก็ง่ายขึ้น และเล็กลง นั่นจึงทำให้มองว่าองค์ความรู้ควรจะต้องกระจายออกไป

นพ.รังสฤษฎ์ ขยายความว่า ประเทศเราผลิตแพทย์มาเพื่อดูแล และก็เพียงพอในระดับหนึ่ง ซึ่งประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจเพียงพอหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาการวางระบบวินิจฉัยเบื้องต้น การส่งต่อเหมือนจะเป็นเหมือนการรวมศูนย์ แพทย์ที่ทำได้จะอยู่แต่ในโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ แต่เหตุที่เกิดบางครั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นที่ตรงนั้น

ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ห่างไกลได้รับการวินิจ และรักษาได้รวดเร็วขึ้น ?

อันนี้ก็เป็นเรื่องการวางระบบการส่งต่อ การปรึกษา รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถของแพทย์ที่กระจายอยู่ข้างนอกที่จะสามารถทำได้ ศูนย์การเรียนรู้ฯ ก็เป็นตัวหนึ่งที่เราพยายามช่วยทำให้เขามีศักยภาพมากขึ้นในการดูแลภาวะฉุกเฉิน ซึ่งไม่ฉุกเฉินเราไม่กลัวอยู่แล้วเพราะเขาสามารถส่งต่อมาได้

ส่วนนี้จึงเป็นเหมือนอีกหนึ่งความหวังที่จะทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล หรืออยู่ในโรงพยาบาลชุมชนได้รับการวินิจฉัยได้ถูกต้องรวดเร็วมากขึ้น โดยผ่านช่องทางที่เป็นระบบเครือข่ายการสื่อสารที่มีอยู่ แม้จะเข้มแข็งหรือไม่เข้มแข็งก็ตาม ซึ่งแม้จะมีเครือข่าย แต่ไม่มีองค์ความรู้ หรือมีองค์ความรู้แต่ไม่มีเครือข่ายก็อาจจะไม่สำเร็จเท่าไหร่ ฉะนั้นความต้องการก็คือเข้าไปช่วยเสริมในส่วนนี้

มากไปกว่านั้นแพทย์ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว บางคนก็จะส่งเคสมาให้ดู มาปรึกษา หรือบางครั้งก็จะมีการบ้านให้เขาเก็บเคสมาเพิ่ม เพื่อที่จะดูว่าเมื่อเรียนไปแล้วสามารถทำได้จริงหรือไม่

นอกเหนือจากการเติมเต็มองค์ความรู้ให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ประธานศูนย์การเรียนรู้ฯ รายนี้มองนั่นก็คือการเติมองค์ความรู้ด้านการแพทย์ที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน และไม่ใช่แค่การแค่การนั่งฟัง หรือจดตามเท่านั้น แต่ยังต้องลงมือปฏิบัติได้ด้วย เช่น เมื่อแพทย์ให้ผู้ป่วยกลับไปวัดความดันที่บ้าน เขาจะวัดถูกหรือไม่ ตรงนี้ก็จะเป็นเหมือนทักษะติดตัวผู้ป่วยไปด้วย

นพ.รังสฤษฎ์ อธิบายว่า ในแง่ของบุคลากรแล้วไม่อยากให้เป็นแค่เฉพาะเรื่องหัวใจ และยังคาดหวังว่าอยากจะดึงผู้ที่มีความสามารถ ความรู้จากหลากหลายแขนงมาช่วยกันออกแบบหลักสูตรที่จะตอบสนองความต้องการทั้งแวดวงบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป รวมไปถึงความรู้ที่เขากระหายใคร่รู้ในเรื่องที่ยังไม่มีใครสอน

นั่นจึงทำให้เริ่มมีการสำรวจความต้องการของประชาชนทั่วไป ซึ่งก็ได้คำตอบว่ามีอีกหลายเรื่องที่ประชาชนต้องการจะรู้ เช่น จะเป็นพ่อแม่ที่ดีได้อย่างไร จะรับมือกับวัยรุ่นอย่างไร การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่บ้านต้องทำอย่างไร รวมไปถึงการเขียน Living Will (หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาพยาบาล) ฯลฯ

มันก็มีศาสตร์เหล่านี้อยู่ซึ่งกระจายอยู่ในสื่อ ซึ่งก็ถูกบ้างผิดบ้าง หลายครั้งก็เป็นเรื่องที่เราแชร์ในไลน์มั่วเยอะมาก มีเฟคนิวส์เรื่องสุขภาพเต็มไปหมด ซึ่งเราก็ต้องการที่จะเป็นที่พึ่งให้แก่สังคมว่าความถูกต้องทางการแพทย์คืออะไร เหมือนเป็นการเสริมสร้าง Health literacy (ความรอบรู้ทางสุขภาพ) ให้กับประชาชน

ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะมีโปรแกรมที่ดี และไม่ใช่มานั่งฟังแลคเชอร์ แต่เหมือนกับเป็นการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทัศนคติ ความเชื่อผิดๆ อยากให้มีกิจกรรมที่ทำให้คนเรียนด้วยความกระหายใคร่รู้จริงๆ

นั่นคือสิ่งที่หมอหม่องอธิบายให้ฟังอย่างมุ่งมั่น

ขณะเดียวกันการเติมองค์ความรู้ในบางเรื่องก็ไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะราวๆ ปลายปีหรือต้นปีหน้า ศูนย์การเรียนรู้ฯ จะขยับใหญ่ด้วยการเปิดอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม อีกด้วย

นพ.รังสฤษฎ์ เล่าว่า มีช่วงหนึ่งที่ได้ไปเยือนประเทศเพื่อนบ้านๆ บ่อยร่วมกับชมรมคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจแห่งประเทศไทย เพื่อไปดูผู้ป่วยที่นั่น บางครั้งก็ให้สมาคมแพทย์ของเขาเตรียมผู้ป่วยโรคหัวใจราวๆ 100 คน ซึ่งในตอนนั้นก็ได้มารนำทีม นำเครื่องมือลงไปตรวจให้ เห็นได้เลยว่าเขาน่าสงสาร ความทันสมัย องค์ความรู้ ความชำนาญยังห่างกับไทยอยู่มาก และทำให้มองว่าเราควรจะช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ผ่านทางวิชาการ

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งความคิดก็มองว่าหากจะทำแบบนั้น หมายถึงการทำทีม หรือนำเครื่องมือลงไปตรวจให้เรื่อยๆ แลจะดูไม่ค่อยเต็มเท่าที่ควร และไม่ค่อยยั่งยืนนัก ซึ่งถ้าเราสามารถเติมองค์ความรู้ หรือให้การอบรมเขาน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า มากไปกว่านั้นก็จะทำให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถเป็นผู้นำทางด้านวิชาการในระดับภูมิภาคได้ด้วย 

เราก็จะเจริญไปด้วยกัน เขตแดนประเทศไม่ได้มีความหมายอะไรมาก ทีนี้เราต้องมองกว้างกว่านั้น เพราะเรามีศักยภาพที่ช่วยเขาได้ นพ.รังสฤษฎ์ ระบุ