ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วของการเปิดดำเนินการ “CMEx Lifelong Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต” ซึ่งตั้งอยู่ ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อให้ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการช่วยชีวิตให้แก่ประชาชนทั่วไป 

รวมถึงเป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์และเครื่องมือเฉพาะด้าน ด้วยแนวคิดที่ว่า  “การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต”

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานคณะทำงานศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต CMEx Lifelong Learning Center หนึ่งในผู้ผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ CMEx Lifelong Learning Center กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกของภาคเหนือที่มีศูนย์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้มีโอกาสเข้ามาฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้วยตนเอง โดยหลักสูตรภายในศูนย์แห่งนี้ มีทั้งแบบที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและแบบที่มีค่าใช้จ่ายในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

4

นพ.รังสฤษฎ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับหลักสูตรการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ครั้งล่าสุดนี้ CMEx-Philips International Point-of-Care-Cardiac-Ultrasound มุ่งเน้นการฝึกอบรมในการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์แบบพกพา Point of Care Cardiac Ultrasound ได้จนชำนาญเพียงพอในการตรวจวินิจฉัยประจำวัน ให้กับบุคลากรทางการแพทย์จากหลากหลายประเทศในภูมิภาค อาทิ ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม 

เนื่องจากด้วยความตั้งใจของคือถ่ายทอดความรู้ที่มีไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแพทย์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเรา และยังเป็นการแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับวงการสาธารณสุขของแต่ละประเทศ เพราะเชื่อว่าองค์ความรู้ทางการแพทย์สามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกันได้ ที่สำคัญหวังว่าหลักสูตรที่มีอยู่ในขณะนี้ และที่กำลังพัฒนาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจะช่วยส่งเสริมให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นบนพื้นฐานการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต

จากที่เราเริ่มการให้ฝึกอบรมและให้ความรู้ในเฟสแรกผ่านไปแล้วเมื่อปีก่อน ในปีนี้เราได้ขยายขอบเขตการฝึกอบรมไปยังบุคลากรทางการแพทย์ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามที่เราตั้งเป้าไว้ เพื่อรองรับการเป็น Medical Hub ในภูมิภาคอาเซียนนี้นพ.รังสฤษฎ์ ระบุ

4

สำหรับประโยชน์ของการฝึกอบรมการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์แบบพกพา Point of Care Cardiac Ultrasound ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Philips Lumify (ฟิลิปส์ ลูมิฟาย) นั้น จะสอดรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เน้นด้านดิจิทัล และสะดวกมากขึ้นด้วยหัวตรวจแบบพกพาที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ และยังมาพร้อมเทคโนโลยีส่งสัญญาณภาพและเสียงทางไกลแบบเรียลไทม์อีกด้วย หัวตรวจของ Philips Lumify สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยอวัยวะได้หลายส่วน เช่น หัวใจและหลอดเลือด อวัยวะภายในท้อง หลอดเลือด เนื้อเยื่อ ถุงน้ำดี เป็นต้น 

ด้าน นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยแล้ว ฟิลิปส์ยังสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถและการให้ความรู้ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ทั้งแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนอีกด้วย 

5

นายวิโรจน์ บอกอีกว่า ครั้งนี้นับเป็นอีกครั้งที่ฟิลิปส์ได้ทำงานร่วมกับ CMEx Lifelong Learning Center ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มช. ในการช่วยสนับสนุนและผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ในภาคเหนือเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น และร่วมจัดอบรมหลักสูตร CMEx-Philips International Point-of-Care-Cardiac-Ultrasound สำหรับบุคลากรทางการแพทย์โดยเฉพาะ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 20 คน จาก 2 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปินส์  เข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ด้วย 

“เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปณิธานที่เราตั้งไว้กับกลยุทธ์ที่เราได้ลงมือทำ จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกให้ได้ 2,500 ล้านคน ภายในปี ค.ศ. 2030” นายวิโรจน์ กล่าว