ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.รับทราบ ผลสำรวจ “บัตรทอง” ปี 61 “ปชช.พึงพอใจระดับมากที่สุด” เผย 3 อันดับแรก พึงพอใจความเชี่ยวชาญแพทย์/พยาบาล/เจ้าหน้าที่, เชื่อมั่นการรักษาและอุปกรณ์-เครื่องมือทางการแพทย์ ขณะที่ผลสำรวจรับบริการรอบ 6 เดือน มีประชาชนใช้สิทธิบัตรทองถึงร้อยละ 83

ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ – เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในวันนี้บอร์ด สปสช.ได้รับทราบรายงาน “ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2561” จัดทำโดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการจัดทำการสำรวจความคิดเห็นเป็นประจำทุกปี ซึ่ง บอร์ด สปสช.ได้นำผลการสำรวจที่ได้มาพิจารณาเพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีคุณภาพและมาตรฐานบริการทางการแพทย์ ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ด้าน รศ.ดร.สุรชาติ ณ หนองคาย ผู้แทนมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ในการสำรวจความคิดเห็นฯ ปี 2561ได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 5,346 คน ใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ช่วงระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2561 พบว่าประชาชนยังคงมีความพึงพอใจโดยรวมต่อระบบบัตรทองในระดับมากที่สุด คือร้อยละ 93.9 โดยประเด็นที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ร้อยละ 93.9, ความเชื่อมั่นในการรักษาและความปลอดภัยในระหว่างรับบริการ ร้อยละ 93.4 และอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ ร้อยละ 92.5

ส่วนภาพรวมการรับรู้ต่อระบบบัตรทอง 3 อันดับที่ประชาชนรับรู้มากที่สุด คือเจ็บป่วยทั่วไปใช้บริการสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนสิทธิก่อน ร้อยละ 83.3, เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาสถานพยาบาลที่ใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด ร้อยละ 78.6 และใช้สิทธิเข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ ร้อยละ 61.3 ส่วนเรื่องที่รับรู้น้อยและมีคะแนนต่ำสุดใน 3 อันดับ คือการเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำได้ปีละไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี ร้อยละ 25.6, ผู้มีสิทธิที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ร้อยละ 30 และผู้ป่วยโรคจิตเวชเรื้อรังได้รับบริการต่อเนื่องที่บ้านหรือชุมชน ร้อยละ 34.6 และในการสำรวจครั้งนี้ยังได้สอบถามการรับรู้หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน สปสช. 1330 โดยมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4 ที่บอกได้ ขณะที่บางส่วนเข้าใจผิดว่าเป็นหมายเลข 1669 ที่เป็นสายด่วนของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

เมื่อดูการรับบริการและใช้สิทธิบัตรทองของประชาชนช่วงรอบ 6 เดือน มีประชาชนเข้ารับบริการจำนวน 4,438 ราย หรือร้อยละ 83 ในจำนวนนี้ใช้สิทธิบัตรทองจำนวน 4,303 ราย หรือร้อยละ 96.9 และไม่ใช้สิทธิบัตรทอง 135 ราย หรือร้อยละ 3 เหตุผลของการไม่ใช้สิทธิมากที่สุด คือรอนาน ร้อยละ 51.9, ไม่สะดวกเดินทางไปสถานพยาบาลตามสิทธิ ร้อยละ 19.3, สถานพยาบาลที่มีสิทธิไม่มีบริการที่ต้องการรักษา ร้อยละ 8.1 เป็นต้น และเมื่อสอบถามถึงการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการใช้สิทธิ มีจำนวน 135 ราย หรือร้อยละ 3.1 ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายค่ายาเพิ่มเติม ค่าตรวจพิเศษ เช่น ส่องกล้อง เอ็กซ์เรย์  CT Scan และ MRI  และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

นอกจากนี้จากการเปิดให้ผู้ตอบระบุเรื่องที่ยังไม่พึงพอใจต่อระบบบัตรทอง พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 1.34 ระบุว่าไม่สามารถใช้สิทธินอกเวลาได้ สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม, ร้อยละ 0.96 ไม่สามารถเลือกหน่วยบริการได้ และร้อยละ 0.48 ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเท่าที่ควร เช่น ข้อมูลสิทธิ/หน้าที่ การย้ายสิทธิ์ เป็นต้น

ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นฯ ครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบบัตรทอง อาทิ สร้างการรับรู้เพิ่มขึ้นต่อหน่วยงาน สปสช. สายด่วน 1330 และสิทธิประโยชน์บัตรทอง ขอความร่วมมือหน่วยงานเครือข่ายภาคีประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ทั่วถึง การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับสื่อของประชาชนตามวัย การยกระดับความพึงพอใจในเรื่องที่ประชาชนพอใจต่ำกว่าเกณฑ์

และการส่งเสริมให้ประชาชนมั่นใจในการใช้สิทธิเมื่อมาใช้บริการ โดยปรับให้บัตรทองเป็นระบบรักษาพยาบาลแรกที่ประชาชนจะใช้เมื่อเจ็บป่วย และจัดการระบบส่งต่อให้เหมาะสม ไม่ให้เกิดความแออัดในสถานพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่งมากเกินไป โดย สปสช.จะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบบัตรทองต่อไป