ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เปิดตัวเลขสถิติป่วยโรค NCDs พบเป็นสาเหตุของอัตราการตายก่อนวัยอันควรปีละ 3.5 แสนราย หนุนใช้กองทุนสุขภาพตำบลแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2561 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมสุขภาพต้านโรคไม่ติดต่อ “NCD Forum 2018” ภายใต้กรอบคิด (ธีม) “Together, Let’s beat NCDs: ประชารัฐร่วมใจ ลดภัย NCDs” ขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 ราย

นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดำเนินงานเรื่อง NCDs นั้น นโยบายเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ส่วนตัวมองว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับการดำเนินงานในระดับพื้นที่เป็นหลัก เพราะหากมองลึกลงไปแล้วจะพบว่าปัญหา NCDs เป็นเรื่องของปัจเจก ดังนั้นการจัดการจากข้างบนเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

นพ.จักรกริช กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า 1 ใน 4 ของคนไทยที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง และเกือบ 1 ใน 10 ของคนไทยที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ป่วยเป็นเบาหวาน โดยแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี และยังพบอีกว่าอัตราการตายก่อนวัยอันควรของคนไทยส่วนใหญ่เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแทบทั้งสิ้น โดยประมาณ 70% หรือราวๆ 3.5 แสนรายต่อปี ของการตายของคนไทยเกิดจาก NCDs

นพ.จักรกริช กล่าวอีกว่า สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งปัจจุบันตัวเลขของผู้สูงอายุมีจำนวนมากกว่าเด็กที่เกิดใหม่ ดังนั้นแนวโน้มของ NCDs ในอนาคตย่อมสูงขึ้นเช่นกัน ตรงนี้ย่อมหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายของประเทศที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวอีกว่า ในอดีตเมื่อปี 2547 เรามองว่าปัญหาของผู้ป่วยเบาหวานและความดันคือการเข้าไม่ถึงบริการ แต่จากตัวเลขปี 2557 เรายังพบว่าตัวเลขของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยยังสูงอยู่ นั่นเกิดเป็นคำถามว่า 1. ระบบการจัดบริการของเราเป็นอย่างไร ทุกวันนี้เรายังใช้โรงพยาบาลเป็นตัวตั้งใช่หรือไม่ 2. การให้การรักษาโดยการตั้งรับในโรงพยาบาลก็นับเป็นเรื่องที่ยากแล้ว การต่อสู้นอกโรงพยาบาลจะทำอย่างไร 4. ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นคนบอกว่าอะไรควรบริโภคอะไรไม่ควรบริโภค 5. การพึ่งพาหยูกยา นับเป็นต้นทุนของประเทศชาติ โดยปัจจุบันเราจ่ายค่ายามากถึงปีละ 3-4 แสนล้านบาท 6.ระบบการเงิน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราตั้งงบผู้ป่วยไต 1,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเราใช้ถึง 8,000 ล้านบาท แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อ

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของ Health in all ที่ไม่ใช่หมายความถึงเพียงคนในแวดวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่คือนโยบายที่จะต้องสร้างให้ภาคส่วนต่างๆ มีการส่งเสริมและป้องกันโรคให้ได้ เพราะสุดท้ายแล้วการดำเนินงานเรื่องNCDs นั้น ต้องเริ่มต้นที่ชุมชนหรือฐานราก ดังนั้นการวิธีการและเครื่องมือให้ชุมชน อาทิ การสร้างทางเท้าให้คนเดินมาขึ้น การสร้างลานออกกำลังกาย ฯลฯ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

“การจัดการเรื่อง NCDS จากข้างบนเป็นเรื่องที่ยาก แต่จัดการจากข้างล่างเป็นเรื่องง่าย ฉะนั้นพวกเราซึ่งอยู่ในพื้นที่อาจต้องคุยกับชุมชนให้มากๆ เพราะเรามีทรัพยากรในระดับพื้นที่ เช่น กองทุนสุขภาพประจำตำบล ดังนั้นอาจต้องดึงชุมชนมาช่วยกันดูแลในเรื่องนี้” นพ.จักรกริช กล่าว

นพ.จักรกริช ยอมรับว่า จริงๆ แล้ว เรามีกองทุนสุขภาพตำบลยู่ในพื้นที่ และเราอยากผลักดันให้ท้องถิ่นหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ข้อเท็จจริงคือเขาก็สนใจอยู่แล้วแต่เราอยากให้เขาสนใจอย่างเป็นระบบ จึงควรสนับสนุนท้องถิ่น โดยให้เขาใช้เงินได้อย่างถูกต้อง ถูกระเบียบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย

“เวลาเราพูดถึง NCDs เรามักพูดถึงแต่คนป่วย ซึ่งจริงๆ แล้ว NCDs หมายถึงคนทุกคน ดังนั้นจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มเป้าหมายในการทำงานให้ชัดว่าจะทำกับกลุ่มใด การทำงานที่ดีคือการประสานงานในแนวราบ ร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่สำคัญการจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเรื่องที่ยากมาก” นพ.จักรกริช กล่าว