ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรแนวร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศเพิ่มการลงทุนด้านการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Disease หรือ NCD) ก่อนที่จะสร้างภาระทางสุขภาพให้กับสังคมและเศรษฐกิจไปมากกว่านี้

พร้อมกันนี้ ยังขอให้เพิ่มภาษีในสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชากรเข้าถึงการตรวจและรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา WHO ได้จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “ลงทุนเพื่อป้องกัน: กลไกการเงินเพื่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เสาหลักสังคมและเศรษฐกิจที่มีสุขภาพดี” (Invest to protect: NCD financing as the foundation for healthy societies and economies) ร่วมกับมูลนิธิเบาหวานโลก (World Diabetes Foundation) และกลุ่มพันธมิตรโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD Alliance)

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยชุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) กล่าวในระหว่างเวทีว่า มีประชากรโลกมากกว่า 17 ล้านคน ที่เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในแต่ละปี ส่วนมากอาศัยอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางถึงน้อย

“หากประเทศรายได้ปานกลางและน้อย มีการลงทุนในโครงการป้องกันสุขภาพเพียง 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (34 บาท) ต่อประชากร 1 คนในแต่ละปี จะสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้เกือบ 7 ล้านคน” นพ.ทีโดรส กล่าว

1

“โครงการเหล่านี้รวมถึงการใส่ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ให้ข้อมูลด้านโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร และการทำทางรถจักรยาน”

เคธี เดน (Katie Dain) ซีอีโอแห่งกลุ่มพันธมิตรโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD Alliance) ให้ความเห็นในระหว่างการเสวนาว่า แม้รัฐบาลและนักการเมืองจะให้คำมั่นสัญญาในการทำนโยบายควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่คำสัญญานี้ยังไม่ได้นำไปสู่การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหานี้

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา งบประมาณในการจัดการและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตรึงตัวอยู่ที่ประมาณ 2% ของงบด้านสุขภาพทั่วโลก

รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ยังคงพึ่งพางบความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาและองค์การนานาชาติในการทำโครงการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แทนที่จะเพิ่มการจัดสรรงบประมาณของรัฐมาทำงานด้านนี้

นั่นสะท้อนว่า ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง ยังไม่เห็นความสำคัญของการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งๆ ที่มันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นของโรค ทั้งยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกชี้ว่า การเสียชีวิตของประชากรโลก 7 ใน 10 คน เชื่อมต่อถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แสดงให้เห็นว่าลักษณะปัญหาสุขภาพกำลังเปลี่ยนแปลง จากที่แต่ก่อนภาระด้านสุขภาพตกอยู่ที่โรคติดต่อ เช่น เอชไอวี มาลาเรีย และวัณโรค ไปสู่การแพร่กระจายของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความด้น และเบาหวาน

“วิธีการที่ดีสุดในการจัดสรรงบประมาณเพื่อควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือการปฏิรูประบบสุขภาพในภาพรวม” พอล ไฟฟ์ (Paul Fife) ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานเพื่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของนอร์เวย์ (The Norwegian Agency for Development Cooperation) กล่าวในระหว่างการเสวนา

“การลงทุนโดยรัฐบาล หน่วยงานประกันสุขภาพ และบริษัทเอกชนในประเทศ รวมทั้งระดับความครอบคลุมในกลุ่มประชากร มีความสำคัญมากยิ่งกว่าเม็ดเงินที่มาจากโครงการช่วยเหลือนานาชาติ”

การปฏิรูประบบสุขภาพที่ว่านั้น หลักๆ คือการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนทุกคนในประเทศ โดยมีการจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

หากไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที และอาจรู้ตัวว่าเป็นโรคช้าเกินไป จนเกิดภาระทางสุขภาพและการเงินจากอาการป่วยรุนแรง

2

ในกรณีของสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย ทางชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาตะวันออก นพ.โอมารี อูบุกุยู (Omary Ubuguyu) รัฐมนตรีว่าการประทรวงสาธารณสุขแห่งแทนซาเนีย เล่าว่า ประชาชนของตนยังต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเอง เพราะมีประชากรเพียง 15% ที่มีประกันสุขภาพ

เมื่อต้องจ่ายเงินเอง ผู้ป่วยที่มีอาการโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจึงเลือกไม่เข้ารับการรักษา เพราะกลัวจ่ายค่ารักษาพยาบาลแพง ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา พบว่ามีจำนวนมากที่ประสบปัญหาล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ขณะนี้ รัฐบาลแทนซาเนียกำลังริเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังไม่ครอบคลุมประชากร เพราะขาดงบประมาณที่เพียงพอ

“เราคิดว่าต้องมีการตั้งเป้าหมายการลงทุนด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และต้องบูรณาการงานด้านควบคุมและป้องกันโรค เข้าเป็นส่วนหนึ่งกับการทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งจัดสรรงบประมาณผ่ายระบบภาษี” เบนท์ มิกเคลเซ่น (Bente Mikkelsen) ผู้อำนวยการฝ่ายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง องค์การอนามัยโลก กล่าว

ไมเคิล บลูมเบอร์ก (Michael Bloomberg) ฑูตประจำองค์การอนามัยโลก ด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการบาดเจ็บ ให้ความเห็นว่า ถ้าทุกประเทศขึ้นภาษียาสูบ แอลกอฮอล และเครื่องดื่มรสหวาน จะสามารถป้องกันประชากรโลกกว่า 50 ล้านคนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

“ภาษีจะสร้างรายได้มากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (728,000 ล้านบาท) หมุนเวียนเงินทุนให้กับโครงการด้านสุขภาพ ที่จะสามารถช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้มากขึ้นอีก”

ข้อเสนอดังกล่าวมาจากการศึกษาของมูลนิธิบลูมเบอร์กในปี 2561 พบว่าการขึ้นภาษี โดยเฉพาะภาษียาสูบ สามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มากกว่านโยบายด้านสุขภาพอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาระบุว่ารับบาลหลายแห่งยังไม่สามารถขึ้นภาษีในสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะแรงต่อต้านจากภาคธุรกิจ หรือกลุ่มอิทธิพล ที่ขายสินค้าเหล่านี้ และมักมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐสูง

3

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่:
https://healthpolicy-watch.news/time-to-invest-in-preventing-and-treating-ncds/

https://ncdalliance.org/news-events/news/press-release-global-call-to-invest-in-chronic-diseases-39-million-lives-could-be-saved-by-2030