ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พระเทพวรมุนี (สำลี ปญฺญวาโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม ถือเป็นกำลังหลักในการ “ขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์ ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสานตอนบน

ปัจจุบัน “พระเทพวรมุนี” เป็นประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในกลุ่มพระภิกษุ และสามเณร โดยได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 8 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2561

หลังขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพพระสงฆ์ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาร่วม 4 ปีแล้ว “พระเทพวรมุนี” ได้ยกระดับการขับเคลื่อนด้วยการนำแนวทางการพัฒนาสุขภาพของพระภิกษุสามเณร เข้ามาใช้ในพื้นที่ จ.นครพนม

นั่นคือ การจัดตั้งกองทุนสุขภาวะพระสงฆ์ เพื่อช่วยเหลือพระภิกษุ สามเณร และแม่ชีที่อยู่ใน จ.นครพนม และ “การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพระภิกษุสามเณร” ซึ่งก็เป็นหนึ่งในนั้น

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นไปตามคำตรัสของพระพุทธองค์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาที่จะดูแลอุปัฏฐาก เราขอให้ดูแลพระภิกษุท่าน มีอานิสงค์มากกว่าดูแลพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นแนวทางแก่พระภิกษุเพื่อใช้สำหรับการดูแลภิกษุที่เจ็บป่วยด้วยกันเอง

นั่นเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ทำให้ “The Coverage” ต้องกราบนมัสการท่านเพื่อขอสนทนา

กองทุนสุขภาวะพระสงฆ์

พระเทพวรมุนี  เล่าว่า เดิมทีมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับ สปสช. เขต 8 อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็ได้มีคำแนะนำว่าให้รวมกลุ่มพระสงฆ์ แม้ว่าจะมีกองทุนจากรัฐบาลที่คอยช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่ก็ยังมีพระสงฆ์บางรูปที่อาจจะต้องการค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่าเดินทาง หรือค่าพาหะนะเดินทางของญาติโยมผู้เฝ้าไข้

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการจัดตั้งกองทุนสุขภาวะพระสงฆ์ใน จ.นครพนม ขึ้น ด้วยหลักการ “รวมพวก รวมพรรค”

พระเทพวรมุนี อธิบายเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วฝ่ายมหานิกายในแต่ละอำเภอจะมีกองทุนที่ชื่อว่า “พระสงฆ์ช่วยพระสงฆ์” อยู่แล้ว จึงได้มีการรวมกองทุนดังกล่าวเข้าด้วยกัน โดยพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายและพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ใน จ.นครพนม ก็ได้จัดการประชุมร่วมกัน และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งกองทุนสุขภาวะพระสงฆ์ขึ้น

ตอนนั้นปัญหาก็มีหลายอย่างเลยตั้งกองทุนขึ้นมา แต่รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนเต็มที่แล้ว คณะสงฆ์เราก็ตั้งธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ให้พระสงฆ์ได้เป็นแกนนำที่จะจัดตั้งกองทุนไว้ โดยเน้นว่าจุดประสงค์คือให้พระสงฆ์ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนมั่นคง

สำหรับงบประมาณกองทุนในช่วงแรก ฝ่ายมหานิกายมอบเงินเข้ากองทุนเบื้องต้น เป็นจำนวนเงิน 4 แสนบาท และฝ่ายธรรมยุติกนิกาย จำนวน 2 แสนบาท

พระเทพวรมุนี กล่าวว่า การที่วัดจะมั่นคงได้ ก็ต้องการศัยพระสงฆ์ที่แข็งแรง ไม่เป็นโรคภัย จึงจะสามารถออกเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นชุมชนที่อยู่โดยรอบก็จะเกิดความเข้มแข็งและมีความสุข นอกจากนี้ยังทำให้พระสงฆ์ทั้งหลายได้มีความเข้าใจในเรื่องของสุขภาพอีกด้วย

“เราก็ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา พระสงฆ์ช่วยกัน พระสงฆ์ สามเณร แม่ชี อยู่ในองทุนก็สามารถช่วยเหลือกันได้”

สร้างห้องพิเศษ-ช่วยเหลือพระมรณภาพ

พระเทพวรมุนี เล่าว่า ก่อนนั้นพระสงฆ์ที่เข้ารับบริการและต้องรอคิวเป็นเวลานาน บางครั้งเลยเวลาฉันเพล เวลาป่วยไม่ได้แยกพิเศษ จึงทำให้เกิดการทอดผ้าป่าร่วมกับเงินส่วนหนึ่งจากกองทุนฯ สร้างเป็นห้องพิเศษสำหรับใช้เพื่อดูแลพระสงฆ์ขึ้นในโรงพยาบาลจังหวัด ทำให้พระสงฆ์ได้เข้ารับการรักษาได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องไปรอคิวกัน

“กองทุนนี้ทำมาได้ 2 ปี ตรงไหนที่มีข้อสงสัยก็จะมีเจ้าหน้าที่จาก สปสช. เข้ามาอธิบายให้ฟัง เป็นแนวให้จังหวัดต่างๆ ได้ ถ้าจังหวัดอื่นจะทำก็เป็นการดี เพราะหน่วยงานราชการโดยเฉพาะ สปสช. ก็ให้ความสำคัญพระสงฆ์เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พระสงฆ์ก็จะได้ตื่นตัว

พระเทพวรมุนี เล่าต่อไปว่า นอกเหนือจากค่ารถ ค่าเดินทาง หรือค่าดูแลพระสงฆ์ หรือญาติโยมที่ต้องมาเฝ้าไข้แล้ว กองทุนฯ นี้ยังได้มีการช่วยเหลือค่าทำศพให้แก่พระภิกษุ สามเณร และแม่ชีที่มรณะภาพด้วยเช่นกัน โดยจะมีระบบการจ่ายเงินตามที่คณะกรรมการกองทุนได้ระบุไว้

ปัจจุบันงบประมาณกองทุนสุขภาวะพระสงฆ์ นอกเหนือจากเงินตั้งต้นที่ได้จากพระสงฆ์ทั้ง 2 นิกายแล้ว ยังมีการตั้งตู้บริจาคตามวัดต่างๆ ใน จ.

นครพนม ให้เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล ซึ่งจะมีการรวมเงินบริจาคนำมาเข้ากองทุน รวมไปถึงเงินจากพระสงฆ์ที่ทำบุญอายุวัฒนมงคล ทำให้ในขณะนี้กองทุนสุขภาวะพระสงฆ์มีเงินในกองทุน ประมาณ 1.5 ล้านบาท

เราช่วยเหลือพระสงฆ์ทั้งธรรมยุต มหานิกาย มีการลงบัญชีค่าใช้จ่าย รวมไปถึงมีการสรุปการใช้เงินกองทุนในแต่ละเดือน เพื่อให้คณะกรรมการกองทุนได้รับทราบ ร่วมกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ

ปูพรมสร้างเสริมสุขภาพพระสงฆ์

นอกเหนือจากการจัดตั้งกองทุนสุขภาวะพระสงฆ์แล้ว “พระเทพวรมุนี” ยังได้ทำการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพระภิกษุสามเณร การจัดอบรมพระคิลานุปัฏฐาก-พระนักสื่อสาร รวมไปถึงการประยุกต์ใช้การเทศนา เพื่อสอดแทรกความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้แก่พระสงฆ์ และญาติโยมอีกด้วย

พระเทพวรมุนี อธิบายว่า การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพระสงฆ์ ร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ลงไปตรวจคัดกรองโรคให้พระสงฆ์แต่ละวัด ใน จ.นครพนม เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่าพระสงฆ์ป่วยก็จะมีการขึ้นบัญชี คอยดูแลว่าเมื่อให้การรักษาแล้วสุขภาพของพระสงฆ์รูปนั้นดีขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ดี สำหรับพระสงฆ์บางรูปที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวของพระสงฆ์ หากเจ็บป่วยก็จะทำให้เกิดปัญหา จึงได้ทำการมอบหมายให้เจ้าคณะอำเภอเข้าไปดูแลตามวัดต่างๆ ในแต่ละตำบล พร้อมดำเนินการให้แล้วเสร็จให้ถูกต้องตามระเบียบ

มากไปว่านั้น ยังมีการอบรมพระนักสื่อสาร ที่ทำหน้าที่ดูแลพระในตำบลเมื่อเจ็บป่วย โดยจะมีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) เข้ามาช่วยดูแล และมีการขึ้นบัญชีพระสงฆ์และสามเณรที่เจ็บป่วยอีกด้วย

พระเทพวรมุนี เล่าต่อไปว่า นอกจากนี้ก็ได้มีการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก ที่ทำหน้าที่ดูแล และปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่พระสงฆ์ที่เจ็บป่วยอย่างใกล้ชิด โดยการอบรมก็จะมีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาถวายความรู้ให้ในเรื่องนี้

พระคิลานุปัฏฐากมีเยอะ อบรมหลายรอบ มีเกือบ 100 รูป มีการออกบัตรประจำตัว คอยช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนจะส่งไปโรงพยาบาล หากแก้ไขได้ก็ไม่ต้องส่ง เป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล วัดความดันได้ ดูแลได้เบื้องต้น

พระเทพวรมุนี เล่าว่า พระสงฆ์ก็อนุโมทนาแพทย์ที่เข้ามาถวายความรู้ในเรื่องของการดูสุขภาพ เพราะความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาพระภิกษุกันเองตามพระธรรมวินัยได้ รวมไปถึงประยุกต์การเทศนาแนะนำญาติโยมในชุมชนเรื่องสุขภาพ การถวายภัตาหารแก่พระสงฆ์ได้อีกด้วย

เมื่อรัฐยื่นมือเข้ามาช่วย วัดก็ต้องเป็นผู้ประสาน

พระเทพวรมุนี เล่าว่า การร่วมมือของทุกหน่วยงานใน จ.นครพนม ทำให้การขับเคลื่อนสุขภาพของพระสงฆ์ใน จ.นครพนม เป็นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะกองทุน-หน่วยงานจากท้องถิ่น รพ.สต. เป็นต้น ซึ่งทางคณะสงฆ์ก็มีการจัดการประชุมกัน เพื่อให้ทราบปัญหาของแต่ละวัด และต้องการเพิ่มอะไร เอามติของที่ประชุมเจ้าคณะอำเภอที่ร่วมกัน บางครั้งก็เชิญทางราชการเข้ามาร่วมประชุมด้วย

ปัญหาท้าทายปัญญา ก็ร่วมกันพิจารณาแก้ไข

พระเทพวรมุนี เล่าทิ้งท้ายว่า สำหรับจังหวัดที่สนใจ สามารถนำแนวคิดเพื่อสานต่อได้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์ในจังหวัด และพระสงฆ์ก็จะได้ร่วมง่านกับทางราชการมากขึ้น เพราะถ้ารัฐยื่นมือเข้ามาช่วยแล้ว วัดก็จะต้องเป็นผู้ประสานงานกับชุมชน ตามหลักที่ว่า วัดจะดี มีหลักฐาน เพราะบ้านช่วย บ้านจะสวย เพราะมีวัด ดัดนิสัย บ้านกับวัด ผลัดกันช่วย อำนวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัย ทั้งสองทาง

ความพร้อมเรียงสามัคคีกันมีประโยน์ช่วยให้สำเร็จ ถ้าแยกกันไปไม่รอด เพราะแยกพวกเสียความรัก แยกพรรค เสียความสามัคคี แยกทั้งพวกทั้งพรรคก็เสียทั้งความรัก ความสามัคคี ถ้าเราหันหน้าเข้ากัน ก็จะสามารถแกไขปัญหาได้พระเทพวรมุนี ระบุ