ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เผย ผู้ป่วยพอใจนโยบาย เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ได้ทุกคนแนะ สปสช. ดึงคลินิกเอกชนเข้าระบบบัตรทอง เพื่อช่วยเตรียมเส้นเลือดสำหรับฟอกเลือด ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก ขณะที่ สธ. ควรดูแลหน่วยบริการ-ควบคุมมาตรฐาน-ผลิตบุคลากรเพิ่ม รองรับนโยบาย


นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงนโยบาย “เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ได้ทุกคน” ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศคิกออฟเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ตอนหนึ่งว่า ยังมีความกังวลเล็กน้อยเรื่องหน่วยบริการที่จะมารองรับนโยบาย รวมถึงความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์สำหรับดูแลผู้ป่วย เช่น พยาบาล-ผู้ช่วยพยาบาลเฉพาะทาง แพทย์-ศัลยแพทย์สำหรับเตรียมเส้นเลือดให้ผู้ป่วยฟอกไต ฯลฯ ซึ่งบางสาขายังมีไม่เพียงพอในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี แม้จะยังมีความกังวลบ้าง แต่ส่วนตัวเชื่อมั่นว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีศักยภาพและสามารถผลิตบุคลากร ตลอดจนจัดเตรียมระบบสำหรับให้บริการได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ในฐานะนายกสมาคมเพื่อนโรคไตฯ ก็ได้สอบถามไปยังเครือข่ายผู้ป่วยในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจกับนโยบายนี้ เพราะสามารถเลือกวิธีการปฏิบัติด้วยตนเองได้ จากเดิมที่ที่ผู้ป่วยทุกคนจะต้องเริ่มต้นด้วยการล้างไตทางช่องท้องก่อนเป็นลำดับแรก ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่าสามารถล้างไตผ่านช่องท้องก็จะเข้าสู่กระบวนการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

นายธนพลธ์ กล่าวอีกว่า อยากให้ สปสช. เปิดรับหน่วยบริการเอกชนที่ดูแลเรื่องการเตรียมเส้นเลือดให้ผู้ป่วยให้เข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ด้วย เพราะปัจจุบันผู้ป่วยต้องรอผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดนานถึง 3-6 เดือน หากมีการเปิดให้หน่วยบริการเอกชนเข้ามา จะช่วยลดความแออัดในการเข้าถึงบริการได้

“อยากให้ สปสช. เปิดให้คลินิกที่มีแพทย์ทำเส้นเลือดสำหรับการฟอกไตเข้ามาขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันฯ คนไข้จะได้ไม่ต้องวิ่งไปโรงพยาบาล แต่สามารถไปทำที่หน่วยเอกชนได้ ซึ่งราคาค่าผ่าตัดก็จะเป็นไปตามที่ สปสช. กำหนด ตรงนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากขึ้น” นายธนพลธ์ ระบุ

นายธนพลธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ สธ. ควรดูแลเรื่องหน่วยบริการ ควบคุมมาตรฐานในการจัดบริการของหน่วยไตเทียมทุกหน่วยให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน รวมไปถึง สธ. ต้องผลิตบุคคลากร เช่น พยาบาล ศัลยแพทย์เตรียมเส้นเลือด อายุรแพทย์โรคไต ฯลฯ เพิ่ม

“ในเรื่องภาระงบประมาณเชื่อว่า สปสช. จะสามารถดูแลและจัดการได้ เพราะหากมองย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2551 ที่เริ่มให้สิทธิดูแลผู้ป่วยโรคไต จะเห็นว่าศักยภาพในการดูแลประชาชนของ สปสช. ไม่มีคำว่าด้อยกว่าเดิม มีแต่ดีกว่าเดิม ซึ่งก็เชื่อว่าจะสามารถดูแลประชาชนได้ถ้วนหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ” นายธนพลธ์ กล่าว

อนึ่งนโยบาย “เลือกฟอกไตแบบที่ใช่ได้ทุกคน” เป็นนโยบายที่ สปสช. ประกาศเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป โดยจะเปิดช่องให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถปรึกษากับแพทย์ เพื่อเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับตัวเองได้ (ล้างไตผ่านช่องท้อง, ฟอกเลือกผ่านเครื่อง) โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากการล้างไตผ่านช่องท้องเหมือนในอดีตอีกต่อไป