ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สบยช.จับมือ คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. พัฒนาหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง "สาขาการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด" เพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพให้มีความสามารถ ปฏิบัติการดูแลผู้ใช้ยา-สารเสพติด


นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เปิดเผยว่า สบยช.ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพ ให้มีความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด จึงดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2551-2564 รวมจำนวน 16 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้นจำนวน 377 คน ครอบคลุมทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพและกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยในปีนี้่เป็นรุ่นที่ 17 มีระยะเวลาในการฝึกอบรม 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 31 พ.ค. 2565 ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วยพยาบาลวิชาชีพจากทั่วประเทศ จำนวน 29 คน

นพ.สรายุทธ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์นั้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลวิชาชีพ ให้มีความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด โดยสามารถปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวม ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันการใช้ยาและสารเสพติด ในเด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ที่มีปัญหาด้านยาและสารเสพติด

ขณะเดียวกันยังเป็นไปเพื่อพัฒนาคุณภาพการพยาบาล ความคุ้มทุน คุ้มค่า ในการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ผ่านการรับรองและอนุมัติจากสภาการพยาบาล ให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถเก็บหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่อง สาขาการพยาบาลศาสตร์ จำนวน 50 หน่วยคะแนน

"จากการประเมินผลหลักสูตรพบว่า ผู้บริหารและผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจต่อหลักสูตรอยู่ในระดับมาก ส่วนการติดตามผลภายหลังการอบรม ก็พบว่าผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานเห็นว่าผู้ข้ารับการอบรมมีทัศนคติที่ดี เข้าใจและเข้าถึงผู้ป่วยยาเสพติดมากขึ้น สามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติดได้อย่างถูกต้อง เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่บุคลากรในทีมสุขภาพได้" นพ.สรายุทธ์ กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ใช้ยาและสารเสพติด เป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ก่อให้เกิดปัญหาสังคม ที่สลับชับซ้อน ไม่เพียงแต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น หากแต่ส่งผลกระทบ แก่ครอบครัว สังคม รวมทั้งประเทศชาติ เมื่อผู้ใช้ยาและสารเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา พยาบาลจึงเป็นผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดและมีความสำคัญในการดูแล ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาหลักสูตรที่ผลิตพยาบาลของสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย พบว่าเนื้อหา หลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีเป็นการมุ่งเตรียมพยาบาลเพื่อทำหน้าที่ดูแลให้การพยาบาลทั่วๆ ไป ส่วนปัญหาเรื่องยาและสารเสพติดนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวิชาการพยาบาลจิตเวช มีชั่วโมงการจัดการเรียนการสอนน้อย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง ทั้งหลักสูตรเฉพาะทางและหลักสูตรการพยาบาลในระดับปริญญาโท ยังไม่มีหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพยาบาลผู้ใช้ยาและสารเสพติด การดูแลผู้ป่วยยาเสพติดมีความสำคัญและเป็นที่เรื่องยุ่งยาก ซับซ้อน พยาบาลจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในหลายๆ ด้าน ซึ่งสามารถสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดี เกิดความเชื่อมั่นในการเข้ารับบริการ