ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เตือนภัย “แฮปปี้” ยาเสพติดตัวใหม่ ระบาดหนักในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา อันตรายออกฤทธิ์คล้ายยาบ้า


นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งตรงข้ามกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของประเทศ พบการลักลอบจำหน่ายยาเสพติดชนิดใหม่ ที่รู้จักกันในชื่อ “แฮปปี้” เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิงยามค่ำคืน และได้เข้าไปครองตลาดในท่าขี้เหล็กแทนยาเสพติดชนิดอื่น

สำหรับ “แฮปปี้” เป็นยาเสพติดที่มีส่วนผสมของสาร Benzylpiperazine (BPZ) มีฤทธิ์คล้ายยาบ้าแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า 1 ใน 10 ของยาบ้า และที่กลายเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิง เพราะมีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มไม่ต้องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเมามาย และเชื่อว่าเมื่อเสพแล้วจะออกฤทธิ์ทำให้ไม่ง่วงนอน ตื่นตัวตลอดเวลา สามารถเที่ยวสนุกได้ตลอดทั้งคืน เมื่อตื่นตอนเช้าจะไม่มีอาการเมาค้าง เหมือนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อย่างไรก็ตาม ในความจริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะ Benzylpiperazine (BPZ)  ถือว่าเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท การเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าวิธีใด สามารถทำให้มีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง ยิ่งการเสพร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบควัน อาจมีฤทธิ์เสริมให้เกิดการกระทำที่ขาดสติจนอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขบวนการค้ายาเสพติดในปัจจุบัน มักจะคิดค้นวิธีการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งวิธีการที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน คือการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ต่างจากเดิม

ในส่วนของ “แฮปปี้” ก็มีการนำตัวยาเสพติดมาบรรจุในถุงพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กและติดรูปภาพหรือตราสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ บางซอง มีลักษณะคล้ายถุงยางอนามัยและหากไม่สังเกตจะแยกไม่ออก แต่ภายในซองจะบรรจุผงสีขาวขุ่น น้ำหนักประมาณ 15-20 กรัม โดยใช้เสพได้หลากหลายวิธี การเสพยาดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดการเสพติดได้ และมีโอกาสไปใช้ยาเสพติดอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์รุนแรงกว่าได้อีก ในท้ายที่สุดจะกลายเป็นผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดที่มีอาการเสพติดรุนแรง หรือเป็นโรคจิตเรื้อรัง และเกิดความยุ่งยากในการบำบัดรักษาโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ ทุกคนควรต้องเฝ้าระวัง หมั่นสังเกตพฤติกรรมของคนใกล้ชิด แต่ไม่ใช่การจับผิดหรือหวาดระแวง หากพบว่ามีสิ่งของต้องสงสัยต้องรีบพูดคุยบอกกล่าวถึงอันตรายหากเข้าไปยุ่งเกี่ยว

อนึ่ง หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

1