ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เปรียบเสมือนตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาขึ้นในทุกๆ อุตสาหกรรม รวมไปถึงเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ที่ทุกอย่างสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือแม้กระทั่งการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล

เพื่อเป็นการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่เดินไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา เขตสุขภาพที่ 8” ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย จังหวัดหนองบังลำภู และจังหวัดบึงกาฬ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบที่ชื่อ “R8 Anywhere และ R8 NHSO Sandbox” ขึ้น

หวังให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ง่าย-มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงอำนวยความสะดวกเรื่อง การเคลมของหน่วยบริการด้วยเช่นกัน โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการดำเนินงาน

ข้อมูลสุขภาพจะขึ้นไปอยู่ที่ Cloud

นพ.กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลบึงกาฬ และรองประธานคณะทำงานในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ เขตสุขภาพที่ 8 เล่าถึงที่มาที่ไปของการพัฒนาระบบให้ “The Coverage” ฟังว่า เดิมทีเขตสุขภาพที่ 8 มีแนวคิดระบบฐานข้อมูลแบบรวม (Centralized Database) ของผู้ป่วยมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว รวมไปถึงมาการพัฒนาทีมงาน ตลอดจนวิเคราะห์ข้อมูลโรงพยาบาลต่างๆ ในเขต

จนตกผลึกเป็นระบบ “R8 Anywhere” เมื่อเดือนมีนาคม 2563

เรามองว่ามันต้อง digitalization และมันต้องมีการ disruption ในอนาคตแน่ๆ ก่อนที่โควิดจะมาด้วย เรามองว่าทุกอย่างต้องไปมองแบบที่เป็น smart device และข้อมูลต้องใช้ได้ทุกที่ไม่ใช่ base on ที่โรงพยาบาล

คนไข้ก็สามารถใช้ข้อมูลได้ หมอที่ต่างๆ ก็สามารถใช้ข้อมูลได้ เราก็พัฒนามาจนตอนนี้พร้อมcloud ก็เร็ว อินเทอร์เน็ตก็เร็ว ทุกอย่างมีหมด เพียงแต่ระบบพัฒนา ผมว่ายังช้ากว่าเทคโนโลยีปัจจุบันนี้ แต่ก็ไม่ได้ช้าจนเกินไป เพราะเราก็ถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง

นพ.กฤษฎา อธิบายว่า ระบบ “R8 Anywhere” เป็นระบบการดึงข้อมูลการให้บริการของผู้ป่วยจาก

โรงพยาบาลทุกแห่งในเขตสุขภาพที่ 8 เข้ามาเก็บไว้ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ Government Data Center and Cloud service (GDCC) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ส่วนนี้เราก็จะเขียนแอปพลิเคชัน ในการที่จะดึงข้อมูล ดูข้อมูลคนไข้ในพื้นที่ต่างๆ เวลาคนไข้ ข้ามเขต ข้ามจังหวัด เราสามารถรู้ได้เลยว่าคนไข้มีประวัติการตรวจรักษาอย่างไร เราเลยใช้คำว่า Anywhere ไปได้ทุกที่ และก็สอดรับกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ไม่มีใบส่งตัว ของรองนายก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี 1 ปีให้หลังของการนำร่องระบบ R8 Anywhere ก็ยังไม่หยุดพัฒนา เพราะล่าสุดได้มีการนำการ “ฟิล์มเอกซเรย์” เข้ามาไว้ในระบบอีกด้วย

นพ.กฤษฎา ขยายความเพิ่มเติมว่า เดิมทีระบบจะสามารถดึงข้อมูล ประวัติการรักษา-ผลเลือด-ผลวินิจฉัยที่เป็นตัวอักษรได้เพียงอย่างเดียว แต่ติดเรื่องภาพเอกซเรย์ ซึ่งเป็นอะไรที่ยากทางด้านไอทีของสาธารณสุข เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบการค้ามากกว่า ทีมพัฒนาได้ร่วมกันเอาระบบ Open source ดังๆ จากทั่วโลก เข้ามาควบรวมกับ R8 Anywhere ซึ่งก็เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้

“เมื่อเทสแล้วความเร็วไม่ต่างกับการดูที่โรงพยาบาลเลย แล้วก็ผ่านแพลตฟอร์มของ R8 Anywhere ในการเข้าถึง มันก็จะทำให้ความปลอดภัยในการเข้าถึงปลอดภัย

นพ.กฤษฎา อธิบายต่อไปว่า โรงพยาบาลต่างๆ ที่อยู่ในเขตสุขภาพที่ 8 ก็เริ่มมีการเชื่อมระบบดังกล่าวแล้วประมาณ 50% ของโรงพยาบาลในเขตทั้งหมด

ใช้ AI อ่านฟิล์มเอกซเรย์

ทว่าการพัฒนาก็ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เพราะในอนาคตอาจะมีการทำเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI เข้ามาช่วยอ่านผลจากฟิล์มเอกซเรย์ของผู้ป่วย โดยจะเริ่มนำร่องกลุ่มผู้ป่วยวัณโรคก่อน

นพ.กฤษฎา เล่าว่า ทางเขตสุขภาพที่ 8 ก็ได้ประสานกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลมะเร็ง เพราะเขามีระบบ AI ในการอ่านภาพเอกซเรย์ในกลุ่มที่เป็นวัณโรคปอด ซึ่งตรงนี้ก็จะถือว่ามีความแม่นยำ และจะช่วยลดภาระการอ่านฟิล์มของแพทย์ได้มากขึ้นอีกด้วย เนื่องจากปกติเวลาแพทย์อ่านผล ก็จะมีการนับจำนวนผู้ป่วย ซึ่งก็จะทำให้เสียเวลาในการทำรายงาน

อย่างไรก็ดี หากมีการเขียนระบบให้ดีขึ้น ก็จะสามารถทำรายงาน หรือทำ Dashboard เกี่ยวกับวัณโรคปอดด้วยระบบออนไลน์แบบ Real time ได้ มากไปกว่านั้นส่วนหนึ่งก็อาจจะผนวกเข้ากับข้อมูลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเสมหะ ตรงนี้ก็จะทำให้ระบบข้อมูลของวัณโรคแม่นขึ้น รวมไปถึงเห็นภาพว่าพื้นที่ไหนมีการระบาดมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่ได้เข้าไปจัดการได้

“เราสามารถที่จะเอาข้อมูล ภาพเอกซเรย์ ส่งผลมาไว้ใน cloud และก็สามารถที่จะเชื่อมจากตรงนี้ ดึงเข้าในระบบ AI ที่ได้ contact ไว้อยู่แล้ว และแปลผลกลับมาได้เลย

“ปกติข้อมูลจะกลับมาเป็นภาพ และการแปลผล แต่ผมก็จะคุยกับบริษัทว่าขอข้อมูลมาเป็นคำวินิจฉัย และเปอร์เซ็นต์ ในการพบวัณโรคปอดในโรงพยาบาลนั้นๆ และเราก็จะรู้การระบาดวิทยาได้อีกเยอะ ในเรื่องการจัดการวัณโรคต่อไปก็จะง่ายขึ้นอีกเยอะ

นอกเหนือจากการนำภาพฟิล์มเอกซเรย์เข้าระบบแล้ว ทีมผู้พัฒนาก็ยังต่อยอด ระบบ Personal Health Record (PHR) หรือระบบการบันทึกสุขภาพของผู้ป่วย มากไปกว่านั้นผู้ป่วยเองก็ยังสามารถดูข้อมูลส่วนตัวผ่านระบบ R8 Anywhere ได้อีกด้วย

การต่อยอดเทคโนโลยีและแตกแขนงไม่สิ้นสุด

นพ.กฤษฎา อธิบายต่อไปว่า เรื่องของระบบความปลอดภัย ในขณะนี้จะใช้เป็นการลงทะเบียนที่สถานบริการ เพื่อยืนยันตัวตนก่อนว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นกับผู้ป่วยเป็นคนคนเดียวกันสำหรับใช้ในการเข้าถึงข้อมูล เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยได้

ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่แพทย์เองก็จะต้องยืนยันตัวตนผ่านโรงพยาบาล ลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์ของตนเอง รวมไปถึงต้องให้ผู้บังคับบัญชาลงชื่อรับทราบ และต้องให้แอดมินของเขตตรวจสุขภาพตรวจสอบอีกครั้ง ถึงจะอนุญาตให้ชีข้อมูลได้

สำหรับข้อมูลคนไข้ โดยหลักแล้วจะต้องให้ความยินยอมก่อนทุกครั้งถึงจะเปิดดูได้ แต่ในกรณีที่ฉุกเฉินก็สามารถดูได้ เช่น เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือคนไข้มีปัญหาวิกฤต ก็สามารถเข้าไปดูได้ ซึ่งการดูแต่ละครั้งจะจำกัดเวลา ตรวจสอบว่าแพทย์คนใดเข้าระบบ ระบุเวลา ในปัจจุบันตัวแอปฯ ที่เป็น PHR เราสามารถทำให้เขา consent เลือกได้ว่าจะให้แพทย์คนใดเป็นคนดูข้อมูล และมีสิทธิที่จะปิดเมื่อไหร่ก็ได้ ผู้ป่วยเป็นคนเลือก แต่ข้อมูลทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อการรักษาเท่านั้น

นพ.กฤษฎา เล่าว่า เพื่อการรักษาที่ง่ายขึ้น ผู้ป่วยก็สามารถไปไปรักษาได้ทุกที่ ซึ่งส่วนนี้ก็จะสามารถต่อยอดไปได้อีกเยอะ เช่น การตรวจผ่านระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจจะมาจากที่อื่น แล้วต้องการขอตรวจ แพทย์เองก็ไม่มีประวัติผู้ป่วย ตรงนี้ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถเข้าไปดูประวัติการรักษาได้ โดยที่ไม่ต้องตรวจใหม่ทุกครั้ง

“เป้าหมายสูงสุดถ้าเป็น anywhere คนไข้ได้ประโยชน์เต็มที่จากมันในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรักษา หรืออาจจะเป็นการส่งเสริมป้องกันโรค รวมไปถึงข้อมูลสามารถที่จะนำมาใช้เพื่อวางแผนออกนโยบายที่มาจากข้อมูลจริงของคนไข้

นอกเหนือจากการพัฒนาในมุมของผู้รับบริการแล้ว ระบบ R8 Anywhere ยังได้แตกแขนงไปถึงผู้ให้บริการเช่นกัน ด้วยระบบ “R8 NHSO Sandbox” ที่จะช่วยให้สถานบริการสามารถ “เคลม” เงินกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้สะดวก และเต็มเม็ดเต็มหน่อยมากขึ้น

นพ.กฤษฎา อธิบายว่า ระบบ R8 NHSO Sandbox จะเป็นระบบที่ดึงข้อมูลเฉพาะจาก R8 Anywhere เพื่อส่งไปที่ E-claim Service ของ สปสช. เดิมทีการที่สถานพยาบาลจะได้รายได้ ก็จะต้องผ่านระบบ E-claim ก่อน แต่ระบบนี้ จะทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องส่งข้อมูลเอง เพีตงแต่ต้องคอยตรวจสอบความถูกต้องเท่านั้น ส่วนนี้ก็จะช่วยลดภาระการทำงานของสถานพยาบาลได้

นำร่องช่วยเคลมในสิทธิ 30 บาท

อย่างไรก็ดี ระบบ R8 NHSO นั้นจะนำร่องผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ก่อน โดยในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ Data base จาก R8 Anywhere เพื่อที่จะส่งข้อมูลให้กับ สปสช. ได้ในรูปแบบที่เป็นมรตาฐาน รวมไปถึงโปรแกรมตรวจสอบถวามถูกต้องของข้อมูล เพื่อให้พื้นที่ หรือโรงพยาบาลต้นทางสามารถตรวจสอบ-แก้ไขข้อมูลได้ ซึ่งก็จะช่วยให้การเคลมถูกต้องและครบถ้วนมากขึ้น โดยระบบดังกล่าวนี้จะเริ่ม GO live ในวันที่ 8 ก.พ. 2565 และหลังจากนั้นจึงจะเป็นการใช้จริง

“R8 NHSO sandbox เป็นการเชื่อมระหว่าง purchaser และ provider ซึ่งจะทำให้เรื่องการเคลมเงินดีขึ้น และถ้าสำเร็จด้วยดี และไม่มีปัญหา ก็จะต่อยอดไปถึงการเคลมในส่วนอื่นๆ ได้อีกเยอะ

นพ.กฤษฎา อธิบายต่อไปว่า ในอนาคตหากเป็นไปได้จะต้องไม่มีการส่งข้อมูลเลย เมื่อเสร็จจากสถานพยาบาล ข้อมูลก็จะสามารถไหลต่อไปที่ สปสช. ได้ ไม่ต้องมานั่งเสียเวลากลับมาคิดว่าจะเคลมได้ไม่ครบ เพราะระบบจะเชื่อมกันได้ 100% โดยที่ข้อมูลถูกต้องตั้งแต่เริ่ม ก็จะทำให้เวลาถูกใช้ไปกับการดูแลผู้ป่วย แทนที่จะต้องมานั่งห่วงเรื่องการเคลม

ผมว่าเป็นเรื่องของการใช้ข้อมูล ทั้งเรื่องการเคลม การใช้ในการรักษา ผู้ให้บริการ โรงพยาบาลได้ประโยชน์ คนไข้ได้ประโยชน์ สปสช. เขาจ่ายเพื่อสุขภาพ งบประมาณก็เป็นงบประมาณของประเทศ ก็น่าจะทำให้การขับเคลื่อน การจัดการเรื่องสุขภาพเป็นไปได้ดีขึ้น

อันนี้ก็น่าจะเป็นโมเดลที่ทำให้ทุกคนเห็น จะไปต่อหรือไม่ไปต่อไม่รู้ แต่รู้แต่ว่าเป็นโมเดลที่ทุกคนจะต้องเดินไปให้ถึง และเดินต่อไปเพื่อทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนดี ง่าย และมีความสำเร็จมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา นพ.กฤษฎา กล่าวในท้ายที่สุด