ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ฝ่ายคุณภาพการรักษาพยาบาลและนวัตกรรม รพ.กรุงเทพ ฉายภาพการให้บริการในสถานการณ์โควิด ระบุ ไทยเป็นที่ยอมรับในการรักษาโรคซับซ้อน เชื่อหลังเปิดประเทศ ผู้ป่วยยินดีกลับมารับการรักษา


ดร.พัชรินทร์ บุญยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพการรักษาพยาบาลและนวัตกรรม บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์คุณภาพ โรงพยาบาลกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ กล่าวในเวทีเสวนา “การขับเคลื่อนนวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริการเพื่อสุขภาพ แก่คนทั้งมวล” ซึ่งอยู่ภายใต้งาน Thailand international Health Expo 2022 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 ตอนหนึ่งว่า เรื่องของ Medical Tourism ที่เราพูดถึงว่าจะเป็นอนาคตของเรานั้น เป็นอนาคตในอดีตที่ผ่านมาและจะเป็นอนาคตต่อไป เนื่องจากกระบวนการดิสรัปอย่างรุนแรง เกิดข้อจำกัดของการเดินทาง นอกจากนี้เรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ในจำนวนที่จำกัด รวมถึงการที่บุคลากรผู้เชี่ยวชาญกระจุกรวมตัวกันอยู่ในบางพื้นที่ที่สำคัญ ทำให้เราได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

“โควิด-19 ไม่ได้กระทบเฉพาะธุรกิจ แต่กระทบถึงความเป็นอยู่ที่ดีและการดูแล การส่งมอบการบริการให้กับคนไข้ของเรา โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้โรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องเขามารับการรักษาในโรงพยาบาล คนไข้กลุ่มนี้มีข้อติดขัดที่เราจะต้องช่วยเหลือเขา ให้เขาได้รับบริการอย่างต่อเนื่อง บทบาทนี้เองทำให้บรรดาเทคโนโลยี นวัตกรรม ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโรงพยาบาล เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการยอมรับของผู้ให้บริการอย่างรวดเร็ว” ดร.พัชรินทร์ กล่าว

ดร.พัชรินทร์ กล่าวว่า ไม่ง่ายเลยที่บุคลากรทางการแพทย์จะยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาโดยยังไม่ได้พิสูจน์ แต่การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยให้กระบวนการดูแลคนไข้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้วิธีการคิดขององค์กรมีการเปลี่ยนแปลงไป นวัตกรรม เวอร์ชวลแคร์ (virtual care) เทเลเฮลท์ (TeleHealth) เข้ามามีบทบาทและเห็นภาพเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

ดร.พัชรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ เรามองถึงการรวมทุกภาคส่วนเข้ามาเพื่อที่จะส่งมอบการดูแลที่ถึงตัวคนไข้มากที่สุด โดยที่ตัวคนไข้เป็นศูนย์กลางการดูแล เรื่องของเทคโนโลยีที่เป็นความก้าวหน้าทางการรักษา เราคงไม่แข่งในเรื่องเทคโนโลยีที่แอดวานซ์มากขึ้น แต่เราน่าจะนำเทคโนโลยีเหล่านั้นเข้ามาใช้ ขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ด้วยความเชื่อมั่นในความสามารถของบุคลากรทั้งทางด้านการแพทย์และฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มสตาร์ทอัพ การรวมตัวกันขององค์กรนวัตกรรมต่างๆ ทำให้โอกาสที่จะสรรหาเทคโนโลยีที่เข้ามาใช้ในกระบวนการดูแลคนไข้ เกิดขึ้นอย่ามีประสิทธิภาพ เหมาะสม และช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องของการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

“ในเรื่องของเทคโนโลยี ผู้ประกอบการไทยมีองค์ความรู้ แต่ยังขาดสนามที่จะใช้ทดลอง เรียนรู้ เพื่อจะสามารถพัฒนาคอนเซ็ปต์เหล่านั้นให้เหมาะสมกับความปลอดภัยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ โรงพยาบาลมองเห็นการร่วมมือที่จะส่งเสริม เปิดสนามให้กับบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายในมุมของกลุ่มที่ต้องการพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านสุขภาพการดูแลคนไข้และการส่งเสริมสุขภาพ ให้เขาได้มีโอกาสทดลองคอนเซ็ปต์เหล่านั้น เหมือนแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ที่เกิดขึ้นในสนามจริงๆ เรามองความร่วมมือที่จะส่งเสริมและต่อยอดบรรดาสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เค้าสามารถที่จะก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศน์ของการรักษาพยาบาลได้” ดร.พัชรินทร์ กล่าว

            ดร.พัชรินทร์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ไม่ใช่เฉพาะคนไข้เท่านั้นที่คาดหวังผลลัพธ์การรักษาที่ดี และลดภาวะแทรกซ้อน บรรดาผู้จ่ายเงินทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศ กลุ่มอินชัวรัน บริษัทต่างๆ ที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้ ล้วนมีความต้องการคุณภาพของการบริการที่อยากจะได้รับ และมีส่วนสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเฮลท์แคร์ ให้มีลักษณะที่สอดคล้องหรือตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

            ทั้งนี้ หากพูดถึงเรื่องของสุขภาพ ไม่ใช่แค่เฉพาะ Wellness Tourism เท่านั้นที่อยู่ในความสนใจ แต่การส่งเสริมสุขภาพผู้คนเพื่อป้องกันโรค การค้นหาปัญหาสุขภาพในระยะเริ่มต้นเพื่อวางแผนหรือออกแบบโปรแกรมที่ส่งเสริมสนับสนุนป้องกันสภาวะสุขภาพที่อาจจะเกิดเมื่อคนเราอายุมากขึ้น หรือเมื่อเราจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นอนาคตอันใกล้ของไทย เรื่องเหล่านี้อยู่ในความสนใจของการดูแลสุขภาพ  

“บทบาทของเราเองในฐานะเอกชนเราสนับสนุนกระบวนการดูแล การให้ความรู้ ความเข้าใจ เรื่องของการดูแลตนเองของลูกค้า คนที่จะมาเป็นคนไข้ของเรา เพื่อสร้างเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของการลดการนอนโรงพยาบาลนานๆ โดยมุ่งเน้นความต่อเนื่องของการบริการโดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานๆ เวอร์ชวลแคร์ (virtual care) เทเลเฮลท์ (TeleHealth) มีบทบาทสำคัญในการติดตามคนไข้มากขึ้น สมัยก่อนเยี่ยมบ้าน ต้องใช้ทั้งเวลา ทรัพยากร อัตรากำลัง ปัจจุบันเทเลเฮลท์ช่วยให้เราสามารถเยี่ยมคนไข้ได้แม้กระทั่งเขากลับประเทศไปแล้ว” ดร.พัชรินทร์ กล่าว

ดร.พัชรินทร์ กล่าวว่า ภาพรวมของกระบวนการดูแล ดูตั้งแต่เรื่องของกระบวนการค้นหา กระบวนการรักษาพยาบาลที่ยังคงมุ่งเน้นเทคโนโลยี ความรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่จะดูแลรักษา คนไข้ ให้คนไข้ปลอดภัย พ้นจากภาวะแทรกซ้อน หายป่วยตามที่คาดหวัง การส่งต่อเมื่อกลับบ้าน การฟื้นฟูร่างกาย ครบองค์รวมของการดูแลคนไข้ นอกเหนือจากนั้นก็คืออการนำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยในแง่ของการลดระยะเวลา การเพิ่มความสะดวกในการดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่อง

ดร.พัชรินทร์ กล่าวอีกว่า การรักษาพยาบาลที่สำคัญวันนี้ เราเผชิญกับภาวการณ์ดูแลโรคที่มีความซับซ้อน ความยากลำบาก ต้องใช้เครื่องมือ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เรากำลังประสบปัญหาเหล่านั้นพร้อมกันทุกคน เราคิดว่าคนไข้สมควรที่จะได้รับการดูแลในโรงพยาบาลที่เหมาะสม ขณะเดียวกันถ้าเป็นไปได้เราอยากส่งเสริมสุขภาพของผู้คนเพื่อป้องกันการเกิดโรคเหล่านั้นจากพฤติกรรมการบริโภค พฤติกรรมการใช้ชีวิต จากไลฟ์สไตล์ปัจจุบันที่ส่งเสริมให้เกิดโรคเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตจะเป็นภาระอันหนักทั้งของภาครัฐและเอกชนในการดูแล

ดังนั้น วันนี้นอกจากการรักษาคนไข้ เรามองถึงเรื่องเฮลแอนดเวลเนสเป็นสำคัญ และในฐานะของภาคเอกชน มองถึงการสนับสนุนเมดิคอลทัวริซึ่ม (Medical Tourism) ของประเทศ ก่อนหน้านี้กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนของประเทศไทยเราดูแลคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลด้วยโรคซับซ้อนรุนแรง ไม่ใช่เข้ามาเพื่อตรวจร่างกายและทำศัลกรรมเท่านั้น จริงๆ แล้วเราได้รับความเชื่อใจและนับถือจากละแวกเพื่อนบ้านในแง่ของการดูแลรักษาที่มีความซับซ้อน เมื่อประเทศเปิดคนไข้เหล่านั้นยินดีกลับมาประเทศเราเพื่อทำการรักษา   

 “เราอยากให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์ คนส่งคนไข้เข้าสู่ระบบ บริษัทผลิตเครื่องมือ บริษัทประกัน ผู้จ่ายเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพ อยู่ในมุมเดียวกันของอีโคซิสเต็มทั้งหมด วันนี้เราทำงานเองคนเดียวเรารักษาคนไข้ให้กลับบ้านได้ แต่ถ้าเราทำงานร่วมกันทั้งหมด น่าจะส่งเสริมให้เกิดการรักษาที่มีคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ลดลง การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ขยายผล ส่งเสริมให้คนสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น” ดร.พัชรินทร์ กล่าว