ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกวันนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบบัตรทอง ครอบคลุมการรักษาพยาบาล “ที่จำเป็น” เกือบจะครบทุกกลุ่มโรคแล้ว แต่ทั้งหมดนั้นต้องเป็นไปตามเกณฑ์-วิธีการรักษา (ไกด์ไลน์) ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด

ชัดเจนว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เกิดขึ้น ประชาชน-ครัวเรือน ที่ต้องล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล “ลดลง” อย่างเห็นได้ชัด โดยเป้าหมายสูงสุดของ สปสช. คือ จะต้องไม่มีผู้ใดล้มละลายจากการรักษาพยาบาลอีกต่อไป

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่ทอดยาวออกไป เทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากเครื่องไม้เครื่องมือ - อุปกรณ์ - ยา – เวชภัณฑ์ ฯลฯ ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยแล้ว ยังพบว่ามีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโควิด-19 ซึ่งทำให้ระบบบัตรทองต้องปรับตัว-เพิ่มเติม-ขยายสิทธิ เพื่อให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ด้วย

เรื่อง “สิทธิประโยชน์” ในระบบหลักประกันสุขภาพโดยภาพรวม จึงต้องมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง

ประชาชนต้องได้ส่งเสียงของตัวเอง

ก่อนที่ระบบบัตรทอง จะพิจารณาอนุมัติเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้งมิติทางสังคม ความจำเป็น ความเป็นมนุษย์ ตลอดจนความคุ้มค่าทางเศรษฐานะ โดยหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทในการ “ประเมิน” ความเหมาะสม-คุ้มค่า เหล่านั้น ก็คือ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)

หากว่ากันตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีการกำหนดให้ สปสช. ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับชาติจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำเสียงสะท้อนเหล่านั้นกลับมาสรุปและนำไปสู่การปรับปรุงการให้บริการ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์

ฉะนั้น ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี ทางโครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UCBP) จะเปิดให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน “เสนอหัวข้อ” เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกหัวข้อ ที่จะทำการศึกษาว่าเหมาะสมต่อการเสนอให้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองหรือไม่

สำหรับกลุ่มของเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป นับว่าเป็น 1 ใน 7 กลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการ UCBP โดยมี “ช่องทาง” ในการเสนอหัวข้อที่แตกต่างกันออกไป

ส่วนหนึ่งจะเป็นการเสนอหัวข้อผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต ทั้ง13 เขต ทำให้อาจจะมีหัวข้อเข้ามาค่อนข้างมาก แต่ก็มีการคัดกรองเบื้องต้นผ่าน สปสช. เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข สปสช. พิจารณาหัวข้อเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์ฯ

ในปี 2564 มีข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ เข้าสู่กระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์ ปี 2565 จำนวน 7 หัวข้อ และจะมีการคัดเลือกหัวข้อจาก 7 หัวข้อ ให้เหลือ 5 หัวข้อ เปรียบเสมือนปราการสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ที่จะถึงนี้ได้อีกด้วย เพื่อนำไปรวมกับหัวข้อที่เสนอเข้ามาจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีก 6 กลุ่ม

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องจัด “การประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ” ขึ้น เพราะที่ผ่านมา หัวข้อของแต่ละกลุ่มที่ได้เสนอเข้ามานั้น บางส่วนขาดความเป็นวิชาการและความน่าเชื่อถือของข้อมูล ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียมกันของเนื้อหาประกอบแต่ละหัวข้อที่เสนอ การจัดประชุมครั้งนี้จึงจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเหล่าบรรดาผู้แทน หรือผู้ที่จะเสนอข้อมูลให้สามารถเตรียมการได้ตรงตามเกณฑ์ที่ระบุเอาไว้ และยังจะสามารถนำข้อมูลที่ได้นี้ไปใช้กับการนำเสนอหัวข้อในประชุมระดมสมอง

โครงการ UCBP ร่วมกับภาคีในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Workshop” ในชื่อ “การประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการเสนอหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีด้านสุขภาพเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 และการจัดทำข้อมูลประกอบหัวข้อปัญหา ฯ”

 Workshop นี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงกระบวนการและวิธีการที่ถูกต้องในการจัดทำข้อมูลและการเสนอหัวข้อปัญหา

ทีมวิจัยโครงการ UCBP บอกเล่าถึง Workshop ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 25 พ.ย.นี้ กับ “The Coverage” ว่า เดิมทีจะเจอผู้แทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่จะเสนอข้อมูลผ่านการประชุมระดมสมอง หรือการประชุมพิจารณาคัดเลือกหัวข้อเท่านั้น บางครั้งไม่สามารถติดต่อผู้เสนอหัวข้อได้ ผู้เสนอหัวข้อไม่มา หรือมาแล้วไม่มีข้อมูลนำเสนอที่ดีพอ สุดท้ายก็เสียโอกาสและขาดสิทธิในการที่หัวข้อนั้นจะได้รับเลือกไปสู่การศึกษาวิจัยต่อไป

“นี่จึงเป็นการจัดงานครั้งแรก เพื่อเป็นการซักซ้อมเตรียมการของผู้เสนอหัวข้อ ให้พร้อมสำหรับการประชุมระดมสมอง และผลลัพธ์ที่ได้จะได้ออกมาดีกว่าปีที่ผ่านมา” ทีมวิจัย อธิบาย

ทีมวิจัยแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ประชาชนในฐานะผู้รับบริการด้านสาธารณสุข และเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดในการเพิ่มหรือไม่เพิ่มสิทธิประโยชน์ ควรได้รับโอกาสในการสนับสนุนเพื่อที่จะให้สามารถส่งเสียงได้ว่าพวกเขาต้องการอะไรเป็นสิทธิประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขตามหัวข้อที่เขาเสนอเข้ามาได้อย่างถูกต้อง และครบถ้วน

ตั้งแต่ปี 2552 – 2558 ที่ผ่านมา แม้ว่ากระแสตอบรับจากประชาชนในเรื่องของ โครงการ UCBP จะเป็นไปในทางบวก แต่หลายต่อหลายครั้งที่เวทีรับฟังความเห็นมักจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในเรื่องของสิทธิประโยชน์ และกระบวนการเสนอหัวข้อเพื่อเข้าสู่กระวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งกว่าประชาชนจะเข้าใจได้ต้องใช้เวลา 3-4 ปี โดยผ่านการจัดเวทีระดมความคิดเห็นครบทั้ง 4 ภูมิภาค ทำให้ตระหนักได้ว่าประชาชนส่วนมาก “ไม่เข้าใจ” เรื่องสิทธิประโยชน์

ข้อมูลหลายๆ ชิ้นที่ถูกนำเสนอยังขาดความเป็นวิชาการที่เพียงพอ ดังนั้นในระยะหลังโครงการ UCBP จึงได้เริ่มทำการเสริมทีมวิชาการกลาง ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลกับประชาชนในวันประชุมนำเสนอหัวข้อตามเวทีต่างๆ เพื่อให้หัวข้อเหล่านั้นมีความชัดเจน และน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา หรือจักษุแพทย์มาช่วยให้ข้อมูลในการนำเสนอหัวข้อสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสายตา หรือการเชิญทันตแพทย์มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการนำเสนอหัวข้อเรื่องสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม

การประชุมในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 จึงเป็นการเสริมความพร้อมของประชาชนและเป็นการเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ไม่เหมือนกับปีที่ผ่านๆ มา

หัวข้อที่ไม่ได้รับเลือกเข้าสู่การศึกษาวิจัยไม่ใช่ว่ามีข้อเสนอที่ไม่ดี เพียงแต่หัวข้อที่เสนอมานั้นอยู่ในกลุ่มเดียวกับผู้เชี่ยวชาญ หรือสมาคมที่มีแต่อาจารย์แพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าใจเกณฑ์การคัดเลือก หรือมีความรู้ในโรคนั้นอยู่แล้ว

“อย่างไรก็ดี ข้อเสนอจากกลุ่มแพทย์ก็จะเป็นเพียงมุมมองของผู้ให้บริการ ในขณะที่ผู้รับบริการคือประชาชนทุกคน แต่ประชาชนที่นำเสนอข้อมูลก็อาจจะไม่เข้าใจว่าโรคต่างๆ ที่เสนอนั้นเป็นอย่างไร หรือมีจำนวนผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด

“เชื่อว่าหนึ่งในวิสัยทัศน์ของ สปสช. คืออยากให้คนไทยมีสิทธิประโยชน์ เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นทุกอย่าง เมืองไทยไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เราสามารถที่จะเข้าถึง Healthcare ที่เราควรได้รับและการทำงานร่วมกับภาคประชาชนเราอยากรู้ว่าเรายังเข้าไม่ถึงตรงไหน ซึ่งเราก็ต้องการโอกาสในการช่วยสนับสนุนหัวข้อที่เขาเสนอมา” นักวิจัยโครงการ UCBP ระบุ

ไฮไลท์ Workshop 25 พ.ย.นี้

สำหรับรายละเอียดเนื้อหาของการประชุม จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน โดยเริ่มต้นจากการทำความรู้จักและปูพื้นถึงที่มาและความสำคัญของโครงการ UCBP รวมถึงกระบวนการเสนอหัวข้อนั้นๆ ช่วงที่สองคือการพูดถึงเกณฑ์ ว่าอะไรจะเข้าและไม่เข้าตามเกณฑ์การพิจารณาบ้าง ช่วงสุดท้ายคือการพูดถึง การจัดทำข้อมูลประกอบหัวข้อที่เสนอมานั้น มีการสืบค้นข้อมูลอย่างง่ายหรือการกำหนดคำค้นอย่างไร รวมทั้งการลงข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนด หลังจากนั้นก็จะเป็นการแบ่งกลุ่มทำ Workshop และให้แต่ละกลุ่มมาลองซ้อมการนำเสนอ   

นอกจากนี้ การประชุมยังจะเป็นการส่งเสริมความเข้าใจให้กับประชาชนได้ว่า สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เสนอมานั้นควรจะเป็นแบบใด และเหตุผลใดที่ในการนำเสนอรอบๆ นั้น ข้อเสนออาจจะได้รับการตอบรับ หรืออาจจะถูกปฏิเสธไปก่อน เช่นเหตุของการไม่สอดรับกับ “เกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อเข้าสู่การประเมิน” (Selection Criteria) ทั้ง 6 ข้อ (โปรดดูหมายเหตุ)

อย่างไรก็ดี หากเป็นผู้เสนอหัวข้อในกลุ่มอื่นก็จะให้ยึดตามเกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อฯ เป็นหลัก แต่สำหรับกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปนั้นจะมีเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ “Population Intervention Comparator Outcome” หรือ PICO เพื่อให้หัวข้อที่เสนอเข้ามานั้นมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สมมติว่า หากประชาชนขอสิทธิประโยชน์เรื่องการผ่าตัดแบบส่องกล้องในผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีอย่างแรกจะต้องทราบก่อนว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดี (P) โดยมีเทคโนโลยี คือ กล้องขนาดเล็กที่บันทึกภาพอวัยวะภายในของผู้ป่วยและส่งมายังจอมอนิเตอร์ (I) นำมาเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (C) ผลลัพธ์ที่ได้คือ คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เนื่องจากการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แผลจะเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล (O)

เพื่อให้ตรงกับเจตจำนงค์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นของคนไทยทุกคน การประชุมทั้งวันที่ 25 พฤศจิกายน และ 21 ธันวาคม 2564 จึงเป็นการผลักดันให้ประชาชนในทุกภาคส่วนได้ใช้สิทธิของตนในการเสนอหัวข้อต่างๆ เข้าไปเป็นชุดสิทธิประโยชน์ของประชาชนเอง และยังเป็นการเปิดรับฟังเสียงของประชาชนอีกด้วย

ซึ่งเหตุผลที่ทำให้โครงการ UCBP อยากฟังเสียงประชาชน ก็เพราะระบบสุขภาพของเมืองไทยเป็นของประชาชน เป็นสิ่งที่ประชาชนสร้างขึ้นมาเพื่อประชาชน

“ตอนที่อาจารย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นคนขับเคลื่อนบัตรทอง ท่านก็สามารถล่าหนึ่งแสนรายชื่อได้ เรารู้สึกภูมิใจเวลาไปเจอคนจากต่างประเทศ เราสามารถพูดได้เลยว่า ถ้าเราไม่สบายไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่มีคนมาดูแล ซึ่งหลายๆ ประเทศพูดคำนี้ไม่ได้

“ระบบบัตรทองไม่ใช่ของ สปสช. มันเป็นของประชาชน”

สำหรับความคาดหวังของโครงการ UCBP ต่อการจัดงานในวันที่ 25 พ.ย. นี้ นั่นก็คือ ต้องการให้ประชาชน หรือผู้ที่ได้เข้ามานำเสนอหัวข้อได้เข้าใจในกระบวนการพัฒนาสิทธิประโยชน์มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงอยากให้คนไทยเห็นความสำคัญของบัตรทองและชุดสิทธิประโยชน์ อยากให้ทุกคนรู้ว่ามีคนที่พร้อมรับฟังและพร้อมที่จะช่วยผลักดันให้สิ่งที่ได้เสนอเข้ามา

การประชุม Workshop นี้ จะจัดขึ้น ณ ห้องประชุม 1 และ 2 โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และ ประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00-12.30 น.

สามารถติดตามข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/HITAPTHAILAND และ https://www.hitap.net/

*หมายเหตุ

เกณฑ์การคัดเลือกหัวข้อเข้าสู่การประเมิน (Selection Criteria) ทั้ง 6 ประเด็น มีดังนี้

1. จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ (Size of population affected by disease or health problem)

2. ความรุนแรงของโรคหรือปัญหาสุขภาพ (Severity of disease or health problem)

3. ประสิทธิผลของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Effectiveness of health technology)

4. ความแตกต่างในทางปฏิบัติ (Variation in practice)

5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจของครัวเรือน (Economic impact on household expenditure)

6. ความเป็นธรรมและประเด็นทางสังคมและจริยธรรม (Equity/ ethical and social implication)