ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ใครจะไปเชื่อว่า “ถั่วเหลืองหมัก” กำลังจะกลายเป็นพระเอกในการรักษา “โรคหอบหืด” และโรคระบบทางเดินหายใจ

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะทีมวิจัยจาก บัณฑิตวิทยาลัย แผนกโรคทางเดินหายใจ มหาวิทยาลัยนครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบว่า เมื่อใช้สิ่งที่เรียกว่า ImmuBalance ที่ได้จากถั่วเหลืองหมักมาใช้รักษาหนูทดลอง ส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อว่า “เอโอซิโนฟิลส์” (Eosinophils) ซึ่งอยู่ใน “ของเหลวที่อยู่ในระบบทางเดินหายใจ” (bronchoalveolar lavage fluid - BALF) อันเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการหอบหืดนั้นมีการลดจำนวนลงอย่างมาก

นั่นช่วยให้อาการของโรคลดลง

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบอีกว่า นอกจากลดจำนวนเซลล์เอโอซิโนฟิลส์แล้ว โปรตีนจากถั่วเหลืองหมักยังสามารถช่วยลดอาการอักเสบในระบบทางเดินหายใจที่มาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวดังกล่าวได้อีกด้วย

งานชิ้นนี้เผยแพร่ในวารสาร Nutrients เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2564

โคดาทานิ ฮิเดอากิ ผู้เขียนหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ได้อธิบายไว้ว่า ในอดีตมีการรายงานถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการบริโภคถั่วเหลืองและอาการแพ้ต่างๆ ว่ามีทิศทางอาการที่ดีขึ้น ดังนั้นแล้วมันจึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่ถั่วเหลืองจะมีส่วนประกอบบางประการที่ช่วยในเรื่องของการรักษาอาการแพ้ต่างๆ

อาไซ คาซึฮิสะ หนึ่งในทีมวิจัยก็ได้เสริมในเรื่องนี้ว่า ก่อนหน้านี้เรารู้กันแล้วว่าอาการแพ้ต่างๆ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความไม่สมดดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut microbiota) และเกี่ยวพันไปถึงปัญหาของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งต่อมาเราก็พบว่าเส้นใยอาหารที่ได้จากถั่วเหลืองหมักนั้นสามารถเข้ามาช่วยให้ปัญหานี้ในร่างกายดีขึ้นได้

เพื่อพิสูจน์ ทีมวิจัยได้ทำการให้สารอาหารที่มีส่วนผสมของเส้นใยที่ได้จากถั่วเหลืองหมักแก่หนูทดลองที่มีอาการของโรคหอบหืด เพื่อทดลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่พบก็คือเซลล์เอโอซิโนฟิลส์ใน BALF ลดลงเป็นอย่างมาก อีกทั้งอาการอักเสบในหลอดลม อาการอักเสบในจมูก น้ำหมูก ก็ถูกยับยั้ง

ซึ่งในการทดลอง ค่าของเอโอซิโนฟิลส์ อาการอักเสบ หรือแม้กระทั่งค่าอื่นๆ ที่ใช้ชี้วัดระบบภูมิคุ้มกันอย่างเช่น Th2 cytokines หรือ อิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ก็สามารถทำงานยับยั้งอาการของโรคหอบหืดได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม โดยความต่างยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อนำผลการตรวจทั้งหมดไปเทียบกับหนูทดลองตัวอื่นๆ ที่เป็นโรคหอบหืดแต่ไม่ได้รับ ‘ถั่วเหลืองหมัก’

“ในการรักษาทั่วไปของปัจจุบันของโรคหอบหืด แพทย์มักใช้สเตอรอยด์เพื่อให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้ดีกว่าเดิม แต่ผลข้างเคียงของมันก็มีสูงมาก แต่งานศึกษาของเราอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้วิธีใหม่ๆ อย่างการนำส่วนประกอบจากถั่วเหลืองหมักที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า ดีต่อสุขภาพมากกว่า เพื่อพิชิตโรคหอบหืด” คาวางุจิ โทโมยะ หัวหน้าที่ปรึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้ทิ้งท้าย

ที่สำคัญมากๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การใช้ถั่วเหลืองหมักจะช่วยลดต้นทุนในการรักษาโรคหอบหืดได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งถ้าการ “ยับยั้ง” อาการต่างๆ ได้ผล ผู้คนก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะหายขาดจากโรคร้ายนี้

ปัจจุบันนี้ โรคหอบหืดกำลังกัดกินผู้คนทั่วโลกกว่า 262 ล้านคน (ข้อมูลปี 2562) และเป็นเหตุของการเสียชีวิตราว 5 แสนคน (ข้อมูลปี 2562) จากการรายงานขององค์การอนามัยโลก

สำหรับประเทศไทย ปี2561 ราวๆ 7% ของประชากรไทยทั้งประเทศนั้นมีอาการของโรคหอบหืด และผู้ป่วยโรคหอบหืดมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่า 2,000 รายต่อปี ที่แย่ไปกว่านั้นคือคนไข้โรคหืดทั้งประเทศที่เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตฐานมีเพียง 30% ของผู้ป่วยโรคหอบหืดเท่านั้น

การค้นพบครั้งนี้ อาจจะเป็นอีกหนึ่งหนทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหอบหืดไม่ว่าจากที่ไหนให้กลับมา “หายใจ” ได้เป็นปกติอีกครั้ง

อ้างอิง

https://www.osaka-cu.ac.jp/en/news/2021/fermented-soybeans-suppress-asthma-induced-airway-inflammation
https://www.mdpi.com/2072-6643/13/10/3380
https://newsbit.us/fermented-soybeans-suppress-asthma-induced-airway-inflammation/?noamp=mobile
https://workpointtoday.com/%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A3/
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/asthma#:~:text=Asthma%20affected%20an%20estimated%20262,lead%20a%20normal%2C%20active%20life
https://www.healthcarethai.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AB%E0%B8%B7%E0%B8%94-bronchial-asthma/