ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ประชาคมโลกได้มีปฏิญญาร่วมกันที่เมืองอัลมา อะต้า ที่อยากจะเห็นว่า ในปี ค.ศ. 2000 หรือเมื่อเริ่มศตวรรษที่ 21 สุขภาพจะดีถ้วนหน้า และเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงด้วยบริบทโลกาภิวัฒน์ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปมาก ประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำจำนวนมากต้องเผชิญกับปัจจัยคุกคามสุขภาพประชาชน จึงทำให้ประชาคมโลกต้องนิยาม การผลักดันทางนโยบายอย่างใหม่ ให้ประชาชนของประเทศเหล่านี้เข้าถึงบริการสุขภาพและมีสุขภาพดีถ้วนหน้า โดยไร้ความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพและมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ปกป้องความอยุติธรรมในสภาพสังคมและเป็นไปตามเป้ามายพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ มีประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำอยู่จำนวนมาก ต้องพัฒนาระบบสาธารณสุขงของตนให้มี “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทุกคน ทุกหน ทุกแห่ง” (Universal Health Coverage: Everyone, Everywhere) คำขวัญรณรงค์ในวันอนามัยโลก และวันครบรอบการก่อตั้ง “องค์การอนามัยโลก” ปีนี้ ตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี และด้วยเป็นวาระครบรอบ 70 ปี ตรงกับช่วงเวลาการรับมอบเอกราชจากประเทศอังกฤษของประเทศศรีลังกา มีวาระครบรอบ 70 ปีเช่นกัน สำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศศรีลังกาและรัฐบาลศรีลังกาได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดพิธีเฉลิมฉลอง เชิญเหล่าผู้แทนประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก โดยเฉพาะประเทศเอเชียใต้ รวมทั้งมัลดีฟ และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วม

ในโอกาสนี้ผมและ นพ.พีระมน นิงสานนท์ รักษาการ ผอ.สำนักเลขาธิการและประชาสัมพันธ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้าร่วมงานครั้งนี้ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ทำให้มีโอกาสรับทราบข้อมูลการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประเทศศรีลังกา

ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าประเทศไทย 8 เท่า ประชากรน้อยกว่าเรา 3 เท่า ส่วนใหญ่กระจุกตัวในเมือง ขณะที่เศรษฐกิจมีขนาด 1 ใน 5 ของไทย จัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง แต่หลังปี 2552 สิ้นสุดสงครามในประเทศ ศรีลังกาถูกจับตาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงถึงปีละ 7.1% ในช่วง 5ปี เป็นการขยายตัวสูงสุดในภูมิภาคเอเชียใต้ ขณะที่ภาพรวมประชากรมีคุณภาพ อัตราการรู้หนังสือสูงถึงร้อยละ 91 สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว เป็นผลจากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อนโยบายการศึกษาต่อเนื่อง

เรื่องสุขภาพ จากรายงานองค์การอนามัยโลกระบุว่าศรีลังกาเป็นประเทศที่มีการจัดระบบสุขภาพที่ดี และดำเนินนโยบายหลักประกันสุภาพถ้วนหน้าเพื่อรองรับการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน เมื่อดูค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประเทศ ศรีลังกาจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าประเทศไทย แต่ประชาชนทั่วไปต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพเองเกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 46 ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 12 เพราะสิทธิประโยชน์การรักษาและบริการสุขภาพในระบบที่ยังไม่ครอบคลุมรายการจำเป็นต่อการรักษาและบริการสาธารณสุขเพียงพอ โดยงบประมาณมีเพียงรัฐบาลจัดสรรสเงินนับสนุนและการช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ให้กับหน่วยบริการ เรียกว่าเป็นระบบ Government sponsor การจัดบริการของโรงพยาบาลรัฐจึงขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับแต่ละงวด ส่วนหมอที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐอยู่ในภาวะสมองไหล ลาออกไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชนในเมืองหรือต่างประเทศ ทั้งที่อินเดีย อังกฤษ และออสเตรเลีย ส่งผลต่อคุณภาพบริการในระบบ

จากความแตกต่างเศรษฐานะของประชากรศรีลังกา คนในชนบทยากจนกลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องรับบริการสุขภาพในโรงพยาบาลรัฐภายใต้ระบบตามที่รัฐจัดให้เท่านั้น หากใครพอมีเงินก็จ่ายค่ายาเพิ่มเองได้ ทำให้คนไข้ที่ไม่มีเงินบางคนเลือกการรักษาโดยใช้การแพทย์พื้นเมืองแทน ขณะที่คนที่พอมีรายได้อาจซื้อประกันเอกชนแทน จ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 16,000 รูปีศรีลังกา เพื่อประกันสุขภาพแบบครอบครัว  ส่วนคนโสดเบี้ยประกันรายบุคคลอยู่ที่เดือนล่ะ 5000 รูปีศรีลังกา ทั้งที่ค่าแรงขั้นต่ำระดับปริญญาตรีอยู่ที่ประมาณเดือนล่ะ 25,000 รูปีศรีลังกา เท่ากับว่าคนศรีลังกาต้องจ่ายเบื้ยประกันถึง 1 ใน 5 ของรายได้ เพื่อเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพ ทั้งยังจำกัดเพียงสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพพื้นฐาน (basic benefit package) นั่นหมายความว่าการรักษาอะไรที่แพง เช่น ยามะเร็ง สายสวนหัวใจ รักษาธาลัสซีเมีย ต้องร่วมจ่าย (co payment) คนศรีลังกาในชนบทคงลำบากมาก   

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของศรีลังกาวันนี้ยังต้องพูดถึงความครอบคลุมในสิทธิประโยชน์และคุณภาพอีกมาก เพื่อไม่ให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมยิ่งกว้างออกไป ไม่เช่นนั้นนอกจากประกันสุขภาพจะไม่ถ้วนหน้าแล้ว ความมั่นคงด้านสุขภาพจะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน หลักประกันสุขภาพจะถูกจำกัดเฉพาะในกลุ่มมนุษย์เงินเดือน คนรวยที่มีปัญญาจ่ายเบี้ยประกันและข้าราชการเท่านั้น”      

ทั้งนี้แม้ว่าศรีลังกาจะมีการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary health care) มีศูนย์บริการสุขภาพ (Health Center) กระจายทั่วประเทศแล้ว แต่ยังขาดแคลนทั้งหมออนามัย พยาบาล และหมอเวชศาสตร์ครอบครัว หรืแม้แต่ยาจำเป็นบางรายการ ตัวชี้วัดคุณภาพวันนี้จึงมีเพียงการให้วัคซีนป้องกันโรค หัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR.) และอัตราการตายของเด็กทารก (IMR) เท่านั้น ส่วนตัวชี้วัดอื่นยังต้องพัฒนาอีกมาก

อย่างไรก็ตามในพิธีเฉลิมฉลองครั้งนี้ นายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ระบุว่ารัฐบาลศรีลังกาให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดสรรงบประมาณและการจัดการระบบสุขภาพ มีทิศทางพัฒนาทั้งการขยายโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณสุขโดยร่วมมือกับภาคเอกชน การจัดการบัญชียาที่จำเป็นต่อการเข้าถึงยาคุณภาพอย่างเท่าเทียม ไม่มีอุปสรรค่าใช้จ่าย และการแก้ปัญหาการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์ สู่การมีสุขภาพดีถ้วนหน้าของคนในชาติ นับเป็นแนวโน้มที่ดีเพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศสนับสนุนควบคู่กับการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ

ข้อมูลประเทศศรีลังกาข้างต้นนี้ ทำให้ผมคิดถึงประเทศไทย วันนี้แม้ระบบสุขภาพบ้านเรายังคงมีเสียงก่นด่ากันเองอย่างไร แต่ก็ยังมีคุณหมอใจดี นางฟ้าพยาบาล และหมออนามัยสุขใจกระจายทำหน้าที่ดูแลชาวบ้านในทุกพื้นที่ เรามีคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง ทำให้มียาและวัคซีนที่จำเป็นเพียงพอให้กับผู้ป่วยในระบบ และเรามีวิชาชีพสุขภาพแขนงต่างๆ ที่มุ่งดูแลประชาชน รวมถึงรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพประชาชน ส่งผลให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยประสบผลสำเร็จ ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ครอบคลุมและทั่วถึง แม้แต่โรคค่าใช้จ่ายสูง อย่างโรคมะเร็งที่คนยากจนสามารถได้รับยาพุ่งเป้า ไม่ต้องรอฉายแสงนาน หรือเสียชีวิตลงก่อนอย่างในอดีต ทั้งยังทำให้ประชาชนในประเทศมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ยากจนแล้วรอสงเคราะห์ ขณะที่คนรวยก็เลือกรักษาเองตามได้กำลังเงินที่เป็นความเหลื่อมล้ำ

ในเวทีนี้ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกที่ได้เยือนประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พร้อมเยี่ยมชมการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การล้างไตผ่านช่องท้องให้กับผู้ป่วยในชุมชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังได้กล่าวยกย่องประเทศไทยให้เป็นตัวอย่างของโลก ในฐานะประเทศที่มุ่งมั่นปกป้องผู้ป่วยและครอบครัวไม่ให้ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ สร้างความมั่นคงให้กับประชาชนและประเทศ

นับเป็นอีกหนึ่งเวทีระดับโลกสะท้อนความสำเร็จ “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย” และความมุ่งมั่นประเทศต่างๆ รวมถึงศรีลังกาในฐานะประเทศเจ้าภาพ เพื่อผลักดันสู่เป้าหมายเดียวกัน “สุขภาพดีถ้วนหน้า โดยไม่ปล่อยให้ใครอยู่ข้างหลัง”