ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คปภ.งัด 3 มาตรการเร่งด่วน แก้ปัญหาข้อร้องเรียนกรณีจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 แบบ "เจอ จ่าย จบ" ล่าช้า เตรียมเข้าตรวจสอบ 4 บริษัทประกัน เช็คฐานะการเงิน-ความมั่นคง


นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนหนึ่งร้องเรียนกรณีบริษัทประกันภัยบางแห่ง จ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ล่าช้า โดยได้ยื่นเรื่องร้องเรียนทั้งที่สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยโดยตรง รวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

สำหรับกรณีเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น คปภ.ได้กำชับให้บริษัทประกันภัยดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์อันพึงจะได้รับตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย และไม่เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน โดย คปภ.ได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางต่างๆ
 
นายสุทธิพล กล่าวว่า จากการติดตามและประสานกับบริษัทประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ได้รับทราบว่าปริมาณเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ของผู้เอาประกันภัยที่ยื่นต่อบริษัทต่อวันมีจำนวนมาก ทำให้บริษัทประกันภัยไม่สามารถบริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว คปภ.จึงได้ออก 3 มาตรการเร่งด่วนเป็นการเฉพาะกิจ

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. มาตรการเข้าตรวจสอบบริษัท เพื่อประเมินความเสี่ยงของบริษัทและการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยวันที่ 30 ส.ค. 2564 คปภ.ได้เร่งจัดทีมเฉพาะกิจเข้าตรวจสอบ ณ ที่ทำการของบริษัทที่รับประกันภัยโควิด-19 จำนวน 4 บริษัท เพื่อประเมินความเสี่ยงของบริษัทและกำกับการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ยังตรวจสอบกระบวนการจัดการสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ของบริษัททั้งระบบ จำนวนเรื่องที่คงค้างพิจารณาของบริษัท พร้อมทั้งเชิญผู้บริหารของบริษัทเข้าชี้แจงต่อ คปภ. ในประเด็นเกี่ยวกับฐานะการเงินและความมั่นคงของบริษัท ตลอดจนติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายในกระบวนการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แต่ละบริษัทด้วย

"สำนักงาน คปภ. กำชับให้ปรับปรุงวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนชี้แจงให้บริษัทเข้าใจถึงมาตรการทางกฎหมายในการกำกับการดำเนินการของบริษัทให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น" นายสุทธิพล กล่าว

2. มาตรการทางกฎหมาย สำนักงาน คปภ. ได้ออกคำสั่งซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2564 ให้บริษัทประกันวินาศภัยที่มีปัญหาการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ 100 เรื่องขึ้นไป ให้มีระบบงาน กระบวนการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 เช่น จัดให้มีหน่วยรับเรื่องเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 เป็นการเฉพาะขึ้นภายในบริษัท

นอกจากนี้ยังจะต่องดำเนินการพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายในเวลาที่กำหนด ส่วนกรณีที่มีปัญหาการตีความหรือโต้แย้งเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และยังหาข้อยุติไม่ได้ ให้บริษัทเสนอความเห็นต่อสำนักงาน คปภ. ภายใน 7 วัน รวมถึงให้บริษัทรายงานข้อมูลเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 และผลการดำเนินการต่อสำนักงาน คปภ. ทุก 15 วัน

นายสุทธิพล กล่าวว่า การออกมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมนี้ เพื่อให้การพิจารณาและจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการด้านสินไหมทดแทนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

"สำหรับมาตรการบังคับใช้กฎหมาย สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาการประวิงจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย หากปรากฏเอกสารหลักฐานว่ามีเจตนาประวิงการจ่ายสินไหมทดแทน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป" นายสุทธิพล กล่าว

3. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน โดยใช้กลไกของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งบูรณาการร่วมกันระหว่างสายงานที่เกี่ยวข้องในสำนักงาน คปภ. โดยคณะทำงานฯ ได้จัดทำแผนบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนทั้งระบบ

สำหรับแผนดังกล่าว ครอบคลุมทั้งในส่วนเรื่องร้องเรียนที่ได้ยื่นมายังสำนักงาน คปภ. และเรื่องร้องเรียนที่ยื่นกับบริษัทประกันภัยโดยตรง โดยในแผนได้กำหนดให้บริษัทต้องรายงานยอดการเรียกร้องและการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อคณะทำงานฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรายงานสภาพปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อคณะทำงานฯ จะได้กำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที 

นอกจากนี้ ในกรณีเรื่องร้องเรียนที่ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณา สำนักงาน คปภ. ได้เสริมเขี้ยวเล็บให้แก่คณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว ด้วยการตั้งทีมย่อยอีก 4 ชุด ประกอบด้วยผู้แทนจากสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายกฎหมายและคดี และสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย ทำหน้าที่ช่วยในการกลั่นกรองเสนอความเห็น รวมทั้งตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ที่มีปัญหาก่อนเสนอความเห็นต่อคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

"หวังว่า 3 มาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจดังกล่าว จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของพี่น้องประชาชน กรณีการจ่ายสินไหมทดแทนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 ให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อให้ระบบประกันภัยเข้ามาเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนผู้เอาประกันภัยในสถานการณ์นี้" นายสุทธิพล กล่าว