ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ ลุยใช้กองทุนหลักประกันท้องถิ่นฯ เป็นกลไกเสริมการป้องกัน-ควบคุมโควิดในพื้นที่ จัดสรรงบประมาณค่าอุปกรณ์เจ้าหน้าที่ ค่าอาหารประชาชนกักตัว


นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ คลอง 12 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ ได้ใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่

ทั้งนี้ งบประมาณจาก กปท. ได้ถูกนำไปใช้ในการจัดซื้อจัดหาหน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลแอลกอฮอล์ ชุดป้องกัน (PPE) สำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องออกปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ รวมไปถึงการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อที่หลากหลาย เช่น ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จิตอาสา เสียงตามสาย

ขณะเดียวกันภาคีเครือข่ายในชุมชน ยังได้ร่วมกันกำหนดมาตรการระดับพื้นที่ อาทิ ออกตรวจประเมินและสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคชั่วคราว เช่น ตลาดนัด ศาสนสถาน โดยจะมีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างประธานแต่ละชุมชน อสม. ผู้ประกอบการ สถานศึกษา และภาคีเครือข่ายชุมชนอยู่เป็นระยะ

นายสมชาย กล่าวว่า ทางเทศบาลฯ ยังได้ร่วมกับสถานีอนามัยสมเด็จย่า 84 ต.บึงน้ำรักษ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) รวมไปถึงการสนับสนุนกำลังคนและทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อประชาสัมพันธ์ปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านรู้จักการป้องกันโควิด-19 และยังเน้นไปที่เรื่องของการฉีดวัคซีนอีกด้วย

"ผมได้พูดคุยกับทาง รพ.สต. ร่วมกับ อสม. ในการออกสำรวจ เพื่อที่จะให้ชาวบ้านที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือชาวบ้านที่ไม่สามารถโหลดแอพพลิเคชันหมอพร้อมได้ โดยจะให้ชาวบ้านลงทะเบียนผ่านระบบแมนนวล และนำมารวบรวมให้กับทาง รพ.สต. เพื่อส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบส่วนกลาง" นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ กล่าว

นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเงิน กปท. มาช่วยป้องกันและควบคุมโรค โดยได้นำเงินมาช่วยเหลือประชาชนที่ต้องกักตัวตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งการช่วยเหลือเรื่องอาหารสำหรับผู้ที่ต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน และยังทำให้สามารถควบคุมโรคได้เร็วขึ้น

"นอกจากนี้เทศบาลฯ ยังได้มีการนำเงิน กปท. มาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการควบคุมโรค กักตัว คัดกรอง หรือการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ซึ่งในภาพรวมคิดว่าตรงนี้นั้นจะสามารถใช้เงินจากกองทุนได้อย่างครอบคลุม และช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด" นพ.สุรินทร์ กล่าว

ด้าน นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จุดเด่นของเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ ก็ต้องชื่นชมทั้งตัวผู้นำตั้งแต่นายกฯ สาธารณสุขอำเภอ ผอ.รพ.สต รวมไปถึงแกนนำในแต่ละชุมชน ที่เห็นความสำคัญและเห็นปัญหาร่วมกัน ว่าต้องจับมือกันแก้ไขปัญหาของคนในพื้นที่ อันเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้การควบคุมป้องกันโรคนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นพ.จักรกริช กล่าวว่า ตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งแรก สปสช.ได้มีการปรับระเบียบเพื่อให้ทางท้องถิ่นสามารถใช้เงินกองทุนฯ ได้คล่องขึ้น ถูกต้องตามระเบียบ ตามเจตนารมณ์ของกองทุนที่ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน จากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนในสังคม โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นกลไกสำคัญ

"ถ้าสามารถระดมทรัพยากรได้นอกเหนือจากเงินกองทุน อย่างเช่นที่เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ ก็จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุน รวมไปถึงคนในชุมชนที่เข้ามาช่วยดูแลกัน อันนี้คือจุดสำคัญที่ทำให้ความสำเร็จของการควบคุมโควิด-19 นั้นค่อนข้างดี" นพ.จักรกริช กล่าว