ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พื้นที่ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก เขตแดนที่อุดมไปด้วยทรัพย์ในผืนดิน จาก “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ที่โด่งดังในระดับโลก จนสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำแก่เกษตรกรเฉียดปีละ 1,000 ล้านบาท

เม็ดเงินจำนวนมหาศาลในอดีต ต้องแลกมาด้วย “สุขภาพ” ของชาวสวนและคนในชุมชน ราคาที่ชาวบ้านต้องจ่ายคือ “ระดับสารเคมีในเลือด” ที่พุ่งสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน มากขนาดที่ครอบคลุม 80% ของผู้เข้ารับการเจาะเลือด

ทว่าในวันนี้ แม้ว่าจะยังมีผู้ที่ต้องดำรงอยู่ในร่างกายที่ปนเปื้อนสารเคมีในเลือดอย่างเข้มข้นอยู่บ้าง แต่สถานการณ์โดยภาพรวมของ ต.ไทรย้อย ได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง

นี่คือ “จุดเปลี่ยน” ของเหตุการณ์ ... นี่คือ “เครื่องมือ” พลิกฟื้นคุณภาพชีวิตชุมชน

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่อากาศแจ่มใสของปี 2554 หรือราว 10 ปีก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองขมิ้น (รพ.สต.หนองขมิ้น) และ รพ.สต.ไทรย้อย ร่วมกันลงพื้นที่ “ตรวจสุขภาพ” ให้กับชาวบ้านใน ต.ไทรย้อย ผ่านโครงการตลาดนัดสุขภาพ

โครงการนี้ รพ.สต.ทั้งสองแห่ง ใช้งบประมาณจาก “กองทุนสุขภาพตำบล” หรือชื่อเต็มๆ คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลหรือพื้นที่ (กปท.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาขับเคลื่อน

เงินดังกล่าวถูกนำไปสนับสนุนให้เกิดการตรวจสุขภาพในชุมชน ณ ศาลากลางหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ได้ชักชวนผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกมาเจาะเลือด ก่อนจะส่งไปแปลผลที่ห้องปฏิบัติการ

เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ก้อนความวิตกกังวลใหญ่ทะมึนได้เข้ามาปกคลุม ต.ไทรย้อย บรรยากาศเริ่มไม่สู้ดีนักหลังปรากฏผลตรวจเลือด นั่นเพราะพบผู้ที่มีสารเคมีในเลือดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ในระดับที่ใครก็ไม่อาจยอมรับได้

สถานการณ์ดังกล่าวเร้าให้ผู้นำชุมชน-ผู้นำท้องถิ่นต้องตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด เงินจากกองทุนสุขภาพตำบลจึงถูกนำไปใช้ปูพรมตรวจเลือดกลุ่มเป้าหมายอีกระลอก คราวนี้เพิ่มเติมอีกราว 1,000 ชีวิต

ผลการตรวจเลือดแบบวงกว้าง ได้ยืนยันถึงข้อเท็จจริงอันน่าสะพรึงกลัว เพราะตัวเลขชี้ชัดว่า 80% ของผู้ที่รับการเจาะเลือด มีสารเคมีในเลือดสูง ตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ระดับที่มีความเสี่ยง และระดับที่ไม่ปลอดภัย

หนำซ้ำ สารเคมีเข้มข้นยังปนอยู่ในเลือดของกลุ่มเด็ก ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ หรือบุคคลอื่นที่นอกเหนือกลุ่มเกษตรกรอีกด้วย

ผู้นำชุมชน-ผู้นำท้องถิ่น เห็นตรงกันว่า นี่คือวิกฤตสุขภาพที่ไม่ได้จำเพาะอยู่ในกลุ่มอาชีพเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่ต้องสัมพันธ์กับ ดิน-น้ำ และ “อาหาร” ซึ่งสร้างผลกระทบต่อทุกคนใน ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

“แรกเริ่มเราคิดว่าจะเกิดกับเกษตรกรที่สัมผัสกับสารเคมีโดยไม่มีการป้องกันเท่านั้น แต่จากผลเลือดที่ออกมา มันไม่ใช่แล้ว” หนึ่งในเจ้าหน้าที่จากทีมสาธารณสุขชุมชน ระบุ

นายณัฐวุฒิ ใจดี รองปลัดเทศบาลตำบลไทรย้อย เล่าว่า ทันทีที่ชุมชนได้รับการคืนข้อมูลจาก รพ.สต. ทางนายกเทศบาลตำบลไทรย้อยได้เรียกประชุมด่วนทันที มีการเชิญคณะกรรมการกองทุนสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และตัวแทนฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วมหาแนวทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน

คำถามในที่ประชุมในวันนั้น คือเหตุใดยังมีคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรได้รับสารเคมีด้วย โดยที่ประชุมวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะการสัมผัสโดยตรง และการบริโภคอาหารที่อาจมีสารเคมีปนเปื้อน

ซึ่งน้ำหนักดูจะเอนเอียงไปส่วนหลังเสียมากกว่า

จากปัญหา ทำให้นายกเทศบาลตำบลไทรน้อยตัดสินใจ ‘ประกาศวาระตำบล’ ในการแก้ไขสถานการณ์สารเคมีในเลือดสูง โดยวางมาตรการให้คนหันกลับมาดูแลสุขภาพ ลดใช้สารเคมี รณรงค์ให้ปลูกผักกินเอง และนั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของ “โครงการพาใจกลับบ้าน”

“งานด้านสุขภาพคนในชุมชน เราใช้เงินจากกองทุนสุขภาพตำบลมาบูรณาการกับเงินของเทศบาล ซึ่งเงินจากกองทุนตำบลนั้นมีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก เพราะสามารถกระจายได้ในหลายกลุ่มประชากร ใช้ได้ทั้งคัดกรองโรค การให้ความรู้ การส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ลดความเสี่ยง” นายณัฐวุฒิ อธิบายให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเครื่องมือชนิดนี้

นายสมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์ นายกเทศบาลตำบลไทรย้อย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนายกฯ ที่มีวิสัยทัศน์ในการดูแลสุขภาพของประชาชน เล่าว่า กองทุนสุขภาพตำบลเป็นกองทุนที่มีความยั่งยืน จึงได้นำมาปรับใช้และบูรณาการกับงบส่วนอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนงานใน 5 ด้าน ผ่านโครงการ “พาใจกลับบ้าน”

ประกอบด้วย 1. ความมั่นคงด้านชีวิต 2. ความมั่นคงด้านอาหาร 3. ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม 4. ความมั่นคงด้านสังคม และ 5. ความมั่นคงด้านประชาธิปไตย ซึ่งโครงการดังกล่าวถือได้ว่าเป็นร่มใหญ่ให้กับอีกหลากหลายโครงการภายใต้การพัฒนาด้านสุขภาพ

หนึ่งในนั้นคือการสนับสนุนให้ชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบ มีการพัฒนาองค์ความรู้ จัดสถานที่อบรม สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ

“ผมคิดว่ากองทุนตำบลเป็นงบประมาณที่เปิดกว้าง ทั้งการพัฒนาสภาพแวดล้อม ดูแลสุขภาพ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือเกิดความสามัคคีในชุมชน เกิดความสุขในการทำงาน ซึ่งเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้” นายกฯ สมเกียรติ ระบุ

นายกฯ สมเกียรติ เป็นบุคคลแรกที่นำ ต.ไทรย้อย เข้าร่วมกองทุนสุขภาพตำบลเป็นแห่งแรกของ จ.พิษณุโลก ด้วยเล็งเห็นถึงความยั่งยืนในการพัฒนาสุขภาพของคนในชุมชนทั้ง 17 หมู่บ้าน ให้มีความมั่นคงและแข็งแรง

“การบริหารจัดการกองทุนฯ ต้องมีความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้ทำกิจกรรมบนเป้าประสงค์ ที่สำคัญก็คือต้องยึดประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของกองทุนสุขภาพตำบล”

“ผมมองดูวัตถุประสงค์ว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนคืออะไร ถ้าใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และไม่มีการทุจริต เท่านี้คุณก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบของ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) แต่ถ้าคุณทุจริตคุณโดนแน่” นายสมเกียรติ ยืนยันด้วยประสบการณ์ตรง

ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานของ ต.ไทรย้อย ฉายภาพผ่านรูปธรรมการตรวจเลือดชาวบ้านเมื่อปี 2562

ข้อมูลจาก รพ.สต. ยืนยันว่า ขณะนี้มีชาวบ้านที่มีสารเคมีในเลือดลดลงจาก 80% หรือเพียง 40% ของผู้ที่เข้ารับการตรวจเท่านั้น

สำหรับกลุ่มที่ยังมีสารเคมีในเลือดสูงอยู่ คือกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ยังไม่ลดละการใช้สารเคมี

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ แม้ว่าสารเคมีในเลือดของคนไทรน้อยในภาพรวมจะลดลง หากแต่ผลผลิตและเม็ดเงินจากผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้บนวิถีเกษตรปลอดภัยยังคงเติบโต หนำซ้ำยังได้รับการยอมรับมากขึ้นด้วย