ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เปิดเกณฑ์อ้างอิง "การเจริญเติบโตเด็กอายุ 6-19 ปี" ชุดใหม่ ใช้เป็นมาตรฐานส่งเสริมการเติบโตของเด็กไทยให้เต็มศักยภาพ วางเป้าหมายท้าทายปี 2579 ชายไทยสูง 180 หญิงสูง 170 ซม.


นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี โดยระบุว่า ขณะนี้ได้มีการพัฒนาเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ชุดใหม่ ที่สามารถสะท้อนภาวะโภชนาการสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงที่ใช้ในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็ก

นายสาธิต กล่าวว่า สำหรับเกณฑ์นี้จะถูกนำมาใช้ในการประเมินภาวะการเจริญเติบโต โดยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง เมื่อเทียบกับกราฟการเจริญเติบโต เพื่อให้ทราบว่าเด็กคนหนึ่งมีภาวะโภชนาการเป็นอย่างไร อ้วน ผอม หรือเตี้ย เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

"ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เด็กมีการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น การใช้เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต ปี 2538 ที่ใช้อยู่เดิม จะทำให้วิเคราะห์สภาพปัญหาต่ำกว่าความเป็นจริง เด็กสูงตามเกณฑ์มากเกินจริง เด็กเตี้ยน้อยกว่าความเป็นจริง เด็กอ้วนมากเกินจริง ขณะที่เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก พ.ศ.2550 ก็เก็บข้อมูลจากเด็กอเมริกัน จึงไม่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย" นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า ในปี 2558 คณะกรรมการพัฒนาเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิดถึง 18 ปี จึงมีมติให้จัดทำเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กวัยเรียนวัยรุ่นชุดใหม่ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและประเมินขนาดปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับภาวะโภชนาการในประเทศไทย โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนเกณฑ์ชุดใหม่นี้ 

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6-19 ปี ชุดใหม่ เป็นการเก็บข้อมูลน้ำหนัก ส่วนสูง และรอบเอว ของเด็กอายุ 4 ปี 6 เดือน ถึง 19 ปี จำนวน 46,587 คน ระหว่างปี 2558-2562 จากสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ใน 16 จังหวัดที่เป็นตัวแทนของประเทศ

สำหรับข้อมูลชุดดังกล่าว จะถูกส่งมอบให้กับภาคีเครือข่ายที่ดูแลสุขภาพของเด็กไทย เพื่อร่วมกันลดปัญหาเด็กอ้วน ที่พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิน 10% สูงกว่าค่าเป้าหมาย และเด็กเตี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกิน 5% สูงกว่าค่าเป้าหมาย โดยเด็กอ้วนมีโอกาสที่จะเป็นผู้ใหญ่อ้วน เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต ส่วนเด็กเตี้ยอาจมีการขาดอาหารเรื้อรังหรือมีการเจ็บป่วยบ่อย ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ไม่เต็มศักยภาพ

"กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนเกณฑ์ชุดใหม่ เพื่อดูแลติดตามการเจริญเติบโตของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กเติบโตเต็มศักยภาพ ให้ถึงเป้าหมายส่วนสูงเฉลี่ยของคนไทยปี 2569 ที่อายุ 19 ปี ผู้ชายสูง 175 เซนติเมตร ผู้หญิงสูง 162 เซนติเมตร และให้ถึงเป้าหมายท้าทายในอีก 15 ปี หรือปี 2579 ผู้ชายสูง 180 เซนติเมตร ผู้หญิงสูง 170 เซนติเมตร" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว