ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์ควบคุมป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ค้นพบปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของประชาชนในสหรัฐอเมริกา

ไม่น่าเชื่อว่า สัมพันธ์กับ เหตุสะเทือนขวัญในวัยเด็ก (Childhood Trauma)

กล่าวคือ เมื่อเด็กได้รับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทำงานของสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน แม้กระทั่งการอ่านและถอดรหัสพันธุกรรม (DNA)

เหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในวัยเด็กนั้นมีหลายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา หรือใช้ความรุนแรง การถูกทารุณกรรม การถูกคุกคามทางเพศ ฯลฯ

เมื่อผู้คนที่ได้รับปัจจัยเสี่ยงนี้ในระดับที่สูง จะพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และมะเร็งปอดมากกว่าปกติ 3 เท่า !!!

มากไปกว่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับ “อายุขัย” ด้วย โดยผู้ได้รับเหตุสะเทือนขวัญในวัยเด็กมากจะมีอายุขัยแตกต่างกับผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงถึง 20 เท่า !!!

นั่นยังไม่นับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาสมองอีกจำนวนมาก

ดร.นาดีน เบริก แฮริส หัวหน้าศัลยแพทย์ประจำแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า จากความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้ตนเองนั้นกลับมาคิดทบทวนถึงวิธีปฏิบัติงานทั้งหมด

“เด็กจำนวนมากถูกนำมารักษาด้วยโรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งเมื่อได้ตรวจดูประวัติและร่างกายอย่างละเอียดกลับพบว่า ผู้ป่วยส่วนมากเคยประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่รุนแรงเป็นส่วนใหญ่” ดร.นาดีน ระบุ

สอดคล้องกับผลการศึกษาเรื่อง "การศึกษาประสบการณ์ในวัยเด็กที่เป็นพิษ" ที่เขียนโดย ดร.วินซ์ เฟลิตติ และ ดร.บ๊อบ แอนดา จากศูนย์ควบคุมป้องกันโรค (CDC) ซึ่งได้ทดลองถามกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่ จำนวน 17,500 คน เกี่ยวกับประสบการณ์ภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ (ACE) อาทิ การถูกข่มเหงทางร่างกาย-อารมณ์-เพศ การถูกทอดทิ้งทางร่างกาย หรือทางอารมณ์ ตลอดจนการป่วยทางจิต การติดสารเสพติด หรือความรุนแรงในครอบครัว 

ผลการศึกษาพบว่า 67% ของกลุ่มตัวอย่าง มีความสัมพันธ์การตอบสนองระหว่างความเจ็บป่วยทางจิตใจ กับประสบการณ์ในอดีต

“ยิ่งผลลัพธ์เปอร์เซ็นต์สูงมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับอักเสบ โรคซึมเศร้า มะเร็งปอด และโรคภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ดร.นาดีน อธิบาย

แพทย์และนักวิจัยจาก CDC บอกอีกว่า เด็กจะอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อการเกิดความเครียดซํ้าๆ เพราะสมองและร่างกายกำลังเพิ่งจะพัฒนา ซึ่งการได้รับบาดแผลทางจิตใจที่รุนแรง ไม่เพียงแต่กระทบเพียงโครงสร้าง และการทำงานของสมองเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงระบบภูมิคุ้มกันที่กำลังพัฒนาอยู่ เช่น ระบบฮอร์โมน หรือการอ่าน-ถอดรหัสพันธุกรรมอีกด้วย

สำหรับการศึกษาประสบการณ์ภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ จะทำการบันทึกคำตอบของผู้ตอบคำถามและให้คะแนน โดยผู้ตอบว่า “ใช่” 1 ครั้ง จะได้ 1 คะแนน ซึ่งผลพบว่าคะแนนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยที่ได้ 4 คะแนน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคไวรัสตับ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า และมีความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้ามากกว่าปกติถึง 4 เท่า รวมทั้งมีความพยายามฆ่าตัวตายมากถึง 12 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เคยมีสภาวะความเจ็บปวดในวัยเด็ก

“จากข้อมูลนี้ทำให้อาจต้องโยนการฝึกปฏิบัติเก่าๆ ทิ้ง เพราะเมื่อเข้าใจกลไกของโรคนั้นแล้ว ในฐานะแพทย์ เป็นหน้าที่ของเราที่จะใช้วิทยาศาสตร์นี้ เพื่อการป้องกัน และการรักษา และเป็นสิ่งที่เราทำ” ดร.นาดีน ระบุ