ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในเวลาไม่กี่วัน ทั้งอังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จะได้รับวัคซีนจาก “ไฟเซอร์” และ “ไบออนเทค” ในล็อตแรก

ทั้ง 3 ประเทศนี้ มีระบบสุขภาพที่ต่างกัน การแจกวัคซีนให้กับประชากรหลายล้านคนทั่วประเทศ จึงต้องเจอกับ “ข้อท้าทาย” ที่ต่างกัน

แน่นอนประเทศที่ระบบสุขภาพรวมศูนย์การจัดการอย่าง “อังกฤษ” ซึ่งมี ‘ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ ที่ชื่อ NHS หรือ National Health System นั้น สามารถแจกจ่ายได้อย่างง่ายดายกว่า

ขั้นตอนคือ เริ่มจากรัฐบาลกลางเลือกโรงพยาบาลจำนวน 50 แห่ง ที่คิดว่า “พร้อม” ในการแจกและฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทันที โดย NHS มีข้อมูลอยู่แล้วว่า 1. จะแจกจ่ายวัคซีนให้โรงพยาบาลแห่งละเท่าไร 2. สามารถสร้างข้อกำหนดและตัดสินใจได้ว่าจะให้วัคซีนนั้นกับใคร 3. จะให้กับกลุ่มเปราะบางด้วยเงื่อนไขใดบ้าง

ขณะที่ใน “สหรัฐอเมริกา” นั้นแตกต่างกันออกไป รัฐบาลสหรัฐฯ กระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังมลรัฐต่างๆ โดยรัฐบาลกลางทำหน้าที่เพียงแค่จัดสรรวัคซีนลงไปตามจำนวนประชากรของแต่ละรัฐ ไม่ใช่ตาม “ความต้องการ” จริง

ทว่าในหลายมลรัฐเอง จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่า “หลักการ” ที่ชัดแจ้งในการแจกจ่ายวัคซีนเป็นอย่างไร และก็ไม่ได้รับวัคซีนที่ตรงกับความต้องการ

หลังจากนั้น แม้ไม่ได้รับจำนวนวัคซีนที่ตรงกับความต้องการ แต่รัฐบาลของแต่ละมลรัฐก็ต้องตัดสินใจเองว่า จะนำวัคซีนลงไปในโรงพยาบาล คลินิก กระทั่งร้านขายยาอย่างไร

มากไปกว่านั้น จะส่งวัคซีนไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างไร เพราะวัคซีนอย่าง “ไฟเซอร์” ต้องเก็บอยู่ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิถึง -80 องศาเซลเซียส

คณะกรรมการที่ปรึกษาของสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ Centers for Disease Control and Prevention เขียนคำแนะนำในการจัดลำดับความสำคัญผู้ที่ควรได้รับวัคซีน เริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์เป็นอันดับแรก

แต่จนถึงตอนนี้ Guideline ที่ควรจะชัดก็ยังไม่ชัด ทำให้หลายรัฐยังคลุมเครือว่าจะเริ่มต้นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงอย่างไร

สำหรับ “แคนาดา” ซึ่งมี ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ แม้จะกระจายอำนาจการปกครองแบ่งเป็นรัฐ คล้ายกับสหรัฐฯ แต่การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ช่วยรวบอำนาจการแจกจ่ายวัคซีนกลับมาที่รัฐบาลกลาง และคอยกำกับลงไปยังมลรัฐอีกที

นั่นทำให้แคนาดา แจกจ่ายวัคซีนได้ดีกว่า

สำหรับคำถามสำคัญที่ว่า “จะมีกี่คนที่ได้รับวัคซีนล็อตแรก” ยังเป็นคำถามใหญ่ทั่วโลก

“แคนาดา” สั่งวัคซีนจากไฟเซอร์ และไบออนเทคมาในจำนวนโดสที่พอดีกับขนาดประชากร “อังกฤษ” สั่งไว้ที่ 30% ของประชากร ส่วน “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด สั่งไว้ในอัตรา 15% ของจำนวนประชากร

แต่ด้วยอัตราการผลิต ขณะนี้ยังต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะฉีดได้ครบ ปัจจุบันไฟเซอร์ผลิตวัคซีนอย่างเต็มกำลังการผลิต และอยู่ในระหว่างการหาสายพานการผลิตเพิ่ม แต่ทั้ง 3 ประเทศต่างพยายามหาวัคซีนจากบริษัทอื่นเช่นเดียวกัน

ต้องเข้าใจว่าการจัดการ “วัคซีน” ทั้งระบบไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องวุ่นวายกับขั้นตอนการอนุมัติ การจัดหา กระบวนการขนส่งแล้ว ยังต้องเตรียม “สตาฟฟ์” จำนวนมหาศาล พร้อมด้วยเข็มฉีดยา และชุด PPE สำหรับสตาฟฟ์เหล่านี้

ภายในเดือนธันวาคม คาดว่าไฟเซอร์จะจัดส่งวัคซีนกว่า 8 แสนโดส ไปยังอังกฤษ 2.49 แสนโดส ไปยังแคนาดา ขณะที่สหรัฐฯ นั้น “หวัง” ไว้ว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ จะได้รับวัคซีนกว่า 40 ล้านโดส

กระนั้นเอง สหรัฐฯ ก็ติดปัญหาใหญ่ เพราะแม้จะเป็นประเทศที่ ‘พัฒนาแล้ว’ และไฮเทคแค่ไหน การที่ไม่มีระบบสุขภาพ แบบ “รวมศูนย์” และปล่อยให้โรงพยาบาล-หน่วยงานสาธารณสุขจัดการกันตามยถากรรม ก็กลายเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับการจัดการวัคซีน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาทิ การที่โรงพยาบาลในเขตชนบท ไม่มีอุปกรณ์ – เครื่องมือเครื่องใช้ในการจัดเก็บวัคซีน ภายใต้อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เตรียมไว้สำหรับการฉีดวัคซีนในปริมาณมากๆ

สำหรับ “ปัญหาร่วม” ระหว่าง สหรัฐฯ และ แคนาดา คือการที่ขนาดของประเทศกว้างใหญ่ มีพื้นที่ชนบทจำนวนมาก นั่นยิ่งสร้างปัญหาให้กับการฉีดวัคซีน

แคนาดาแก้ปัญหาด้วยการใช้ “ทหาร” เป็นศูนย์กลางในการกระจายวัคซีน โดยก่อนหน้านี้จัดส่งวัคซีนไปแล้วใน 10 รัฐ เหลือเพียง 3 รัฐด้านเหนือที่ยังต้องรอ ขณะที่สหรัฐฯ ใช้บริษัทขนส่งอย่าง FedEx และ UPS ในการจัดส่งวัคซีนไปทั่วประเทศ

ทว่า ในช่วงเวลาอย่างเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทขนส่งเหล่านี้ยุ่งวุ่นวายอยู่แล้ว ก็อาจทำให้วัคซีนล่าช้าไปอีก

แล้วประชาชนจะได้รับวัคซีนเร็วขนาดไหน ?

สหรัฐฯ อังกกฤษ และ แคนาดา หรือแม้แต่สหภาพยุโรป ต่างก็ใช้ยุทธศาสตร์คล้ายกัน คือสั่งวัคซีนให้มากๆ จนเกินจำนวนคน สั่งจากหลายบริษัทและสั่งไว้ล่วงหน้า แม้จะยังไม่มีการอนุมัติให้ใช้ในคนได้อย่างเป็นทางการก็ตาม

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่ามีเงินอย่างเดียวก็อาจไม่ได้วัคซีนอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการวัคซีน ก็คือ “ระบบ” ที่ดีในการจัดการทั้งกระบวนการ

ตั้งแต่ขั้นตอนการวางนโยบาย การฉีดวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมาย อย่างมียุทธศาสตร์ชัดเจน ยาวไปจนถึงการจัดองคาพยพ ตั้งแต่บุคลากรสาธารณสุข การจัดการสถานบริการสุขภาพ ไปจนถึงการจัดระบบ “ข้อมูล” ของประชากร ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

ถึงขั้นตอนนี้ “ระบบสุขภาพ” จึงมีความสำคัญไม่แพ้ “เงิน”