ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Center for Global Development ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ได้เผยแพร่บทความเรื่อง What Thailand can teach the world about universal healthcare ระบุว่า

ประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย ได้พิสูจน์แล้วว่าด้วยภาวะผู้นำและระบบวิจัยที่ดี สามารถพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เข้าถึงได้ โดยในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา สามารถลดอัตราตายของทารก ลดจำนวนวันลาป่วย และลดภาระทางการเงินของครอบครัว

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทของประเทศไทย เช่น ชาวไร่ชาบนดอยอ่างขาง ก็ยังสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ต้องขอบคุณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage Scheme, UCS) ของประเทศไทย

ประเทศทั่วโลกต่างก็พยายามจะบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่ประเทศจำนวนมากยังคงเป็นแค่เป้าหมายอยู่ แต่ก็มีหลายประเทศที่ดำเนินการด้านนี้อยู่แล้วและสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศเหล่านี้ได้ ตัวอย่างประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบสุขภาพได้ที่ไม่ล้มละลายทางการเงิน     

ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรไทยยังไม่มีความคุ้มครองใด ๆ ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ที่ได้รับความครอบคลุมก็ยังเป็นสิทธิประโยชน์ที่ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นในช่วงวิกฤตทางการเงิน จึงทำให้มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเสียชีวิตถึง 17,000 รายต่อปี โดยที่จำนวน 2 ใน 3 เป็นการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อที่สามารถป้องกันได้ และยังทำให้ร้อยละ 20 ของครัวเรือนชาวไทยได้กลายเป็นคนยากจนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 

ในปี ค.ศ. 2001 ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินนโยบายโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วหน้า (Universal Coverage Scheme, UCS) ซึ่งในหนังสือ Millions Saved: New Cases of Proven Success in Global Health ได้เรียกโครงการนี้ว่า เป็น “การปฏิรูประบบบริการสุขภาพที่ดีที่สุดในประเทศกำลังพัฒนา” โครงการนี้ได้ครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศภายใน 1 ปี โดยครอบคลุมทั้งบริการที่จำเป็น ทั้งบริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยใน รับทั้งอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ซึ่งในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) โครงการนี้ครอบคลุมประชากรไทยถึง 48 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 98 ของประชากรไทยทั้งหมด    

มีระบบดี ๆ เกิดขึ้นกับโครงการนี้ ได้แก่ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบสนับสนุนที่มีความยั่งยืน 

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย สามารถดำเนินการทั่วประเทศได้ภายในเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 (พ.ศ.2545) แต่ความครอบคลุมการรักษาที่ยากและซับซ้อนนี้ของประเทศไทย เป็นสิ่งที่ค่อยๆ ใช้เวลาในการพัฒนาต่อเนื่องมากว่าทศวรรษ นับตั้งแต่ปีทศวรรษที่ 1970 (พ.ศ.2513) ระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยยังเป็นระบบเรียกเก็บค่ารักษาโดยตรงจากผู้ป่วย และยกเว้นค่ารักษาให้กับคนจน ระบบประกันสุขภาพที่เกิดขึ้นนี้ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมทุกคนได้ จึงทำให้มีคนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพอยู่

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล คลินิก และการพัฒนาบุคลากร เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในที่สุด

ความเห็นของ Dr. Sara Bennett ซึ่งเป็น รองศาสตราจารย์ แห่ง Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health ที่ระบุว่า “คุณภาพ” คือปัจจัยที่ท้าทายสำหรับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนา บริการสุขภาพที่จัดโดยภาครัฐ มักจะเป็นบริการฟรี แต่มักจะมีปัญหาด้านภูมิศาสตร์ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ การมีจำนวนสถานพยาบาลไม่เพียงพอ และการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านการบริหารจัดการที่ดี นอกจากนี้สิ่งที่ใช้ได้กับพื้นที่เขตเมือง ก็มักจะไม่เหมาะสมกับชนบท หรือสิ่งที่ใช้ได้กับชนบท ก็มักจะไม่เหมาะสมกับเขตเมือง  

เมื่อประเทศไทยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดี หรือโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า “ได้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ ไปโดยสิ้นเชิง” นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขกล่าว เมื่อก่อน ผู้ป่วยจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับแพทย์ แต่หลังจากปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ.2544) รัฐบาลจ่ายค่ารักษาให้กับโรงพยาบาล ซี่งรวมถึงเงินเดือนของบุคลากรภาครัฐ และผลตอบแทนสำหรับแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ทุรกันดารในพื้นที่ชนบทห่างไกลด้วย 

บทเรียนจากประเทศไทย ภาวะผู้นำและระบบวิจัยที่ดี สามารถพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เข้าถึงได้ ในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ.2554) งบประมาณสำหรับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ได้รับประมาณ 80 ดอลล่าร์สหรัฐฯ  ต่อคนต่อปีนั้น มีผลช่วยลดอัตราตายของทารก ลดจำนวนวันลาป่วย และลดภาระทางการเงินของครอบครัว

ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ความมุ่งมั่นของผู้นำทางการเมืองเกี่ยวกับประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่  โอบาม่าแคร์ที่ลงนามไว้ในกฎหมายตั้งแต่ ค.ศ. 2010 (พ.ศ.2553) ก็ยังเป็นประเด็นในทางการเมืองอยู่  อย่างไรก็ตาม โอบาม่าแคร์ ก็มีผลงานให้เห็นแล้วว่า มีจำนวนคนที่มีประกันสุขภาพมากกว่าที่ผ่านมา และจำนวนเงินที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเองก็ลดลงอย่างมาก

ประเทศรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางทั่วโลก ต่างก็ต้องการเคลื่อนสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า “ประเทศต่าง ๆ พยายามขยายความครอบคลุม และลดจำนวนเงินร่วมจ่าย แต่ขยายบริการสุขภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น” Bennett กล่าว “หลายประเทศพยายามเคลื่อนไปในทิศทางนี้ รวมทั้งประเทศที่ยากจนที่สุดด้วย” 

การลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทาย ตัวอย่างเช่น ในประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นระบบประกันสุขภาพภาคบังคับสำหรับทุกคน และครอบคลุมกว่าร้อยละ 97 ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตามระบบสุขภาพของประเทศก็มีการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นอยู่

ในประเทศไทย ความสามารถในการซื้อหาได้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะได้รับงบประมาณจากภาษีทั่วไปทุกปี รวมทั้งโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ และ ประชาชนทั่วไป 

ที่มา: Center for Global Development
https://www.theguardian.com/health-revolution/2016/may/24/thailand-universal-healthcare-ucs-patients-government-political