ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เปิด “มหกรรมรวมพลังกลไกขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่” หนุนเพิ่มศักยภาพ ขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมมอบรางวัล “ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการดีเด่น” รพ.พุทธโสธร คว้าอันดับ 1 ประเภท รพศ./รพท. ขณะที่ “รพ.รือเสาะ” คว้าอันดับ 1 ประเภท รพช. และมอบเกียรติบัตร 11 ต้นแบบ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน     

ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ – เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมรวมพลังกลไกขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่” ภายใต้แนวคิด “Empowering & Deepening Connectivity สร้างเสริมพลังเชื่อมโยงเครือข่าย” พร้อมมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตร “ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่น ประจำปี 2561 และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรฐาน 50(5) ต้นแบบ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานระดับเขตพื้นที่ (อคม.) ผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯระดับจังหวัด ผู้แทนสำนักงานเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิใน สสจ. ผู้แทนหน่วยบริการ ผู้รับผิดชอบงานศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพผู้แทนภาคประชาชน และศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายอนุทิน กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ความสำเร็จของระบบจะเกิดขึ้นได้ นอกจากการบริหารจัดการที่ส่วนกลาง โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขแล้ว ยังต้องอาศัยการขับเคลื่อนผ่านกลไกต่างๆ ในระดับพื้นที่ ทั้งกลไก อปสข. อคม. สำนักงานเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และ อปท. โดยแต่ละส่วนต่างมีบทบาทและหน้าที่สำคัญที่สนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังมีกลไกสำคัญที่คอยทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิ คือ “ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการ” และ “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5)” คอยประสานงานเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้ารับบริการ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายแห่งดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาสู่การลดความขัดแย้งในระบบสุขภาพ อย่างเช่น ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการ” และ “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5)” ที่ได้รับมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรในวันนี้ และจะเป็นแบบอย่างการดำเนินงานให้กับพื้นที่อื่นต่อไป

“วันนี้ผมต้องขอบคุณทุกคนที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองรัฐบาลในการดูแลสุขภาพประชาชน ตามนโยบาย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง” ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ระบบสุขภาพถ้วนหน้าของไทยประสบผลสำเร็จ ดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ซึ่งจากนี้เข้าสู่ปีที่ 18 ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยพลังขับเคลื่อนที่เกิดจากความร่วมมือนี้ จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความเข้มแข็งและความยั่งยืน” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กลไกขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ ทั้งการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ ควบคุมกำกับและส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานหน่วยบริการและเครือข่าย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิ โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นการบูรณาการกิจกรรมกลไกการอภิบาลในพื้นที่ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ภายใต้แนวคิด “Empowering & Deepening Connectivity” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการขับเคลื่อนงานตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดีและมีคุณภาพ

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน ได้คัดเลือกศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่น ประจำปี 2561 โดยประเภทโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป อันดับ 1 โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา อันดับ 2 โรงพยาบาลปัตตานี และอันดับ 3 โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ส่วนประเภทโรงพยาบาลชุมชน อันดับ 1 โรงพยาบาลรือเสาะ จ.นราธิวาส อันดับ 2 โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น และอันดับ 3 โรงพยาบาลพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนต้นแบบ 11 แห่ง ได้แก่ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจังหวัดเชียงราย หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจังหวัดกำแพงเพชร หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจังหวัดกาญจนบุรี หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจังหวัดขอนแก่น หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจังหวัดหนองบัวลำภู หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจังหวัดสุรินทร์ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจังหวัดนครศรีธรรมราช หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนจังหวัดสตูล หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพภาคกลางจังหวัดปทุมธานี หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ จังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน โซนเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร